30 มิถุนายน 2556

เส้นทางที่หักเหของ( อดีตพระอาจารย์ ) มิตซูโอะ มิฮาบาชิ

จากที่ผมนำเสนอบทความ ชีวประวัติของ อาจารย์มิตซูโอะ มิฮาบาชิ หรืออดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก แห่งวัดป่าสุนันทาราม ในเรื่อง “อาจารย์มิตซูโอะ มิฮาบาชิ ( คเวสโก) เพชรน้ำหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา ” โดยจบที่การลาสิกขาบทของท่าน ซึ่งกลายเป็นข่าวดังไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ตอนแรกผมก็คิดว่า จะจบเรื่องราวของท่านไว้แต่เพียงเท่านั้น ส่วนในภายภาคหน้าหากมีเรื่องราวดีๆที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับท่านก็จะนำมาถ่ายทอดใหม่ในโอกาสต่อไป ให้สมกับแนวคิดของบล็อก “ไอดอลแมน”นี้ ที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวดีๆอันน่าชื่นชมของบุคคลต้นแบบในสังคม

แต่แล้วไม่ทันข้ามเดือน ก็มีเรื่องราวของอาจารย์มิตซูโอะที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม นั่นคือการมีภาพข่าวออกมาว่า ภายหลังลาสิกขาบท ท่านไม่ได้เดินทางกลับญี่ปุ่นอย่างที่เป็นข่าวก่อนหน้า ทว่ากลับมีภาพถ่ายของท่านกับหญิงสาวที่คาดว่าเป็นคู่รักของท่านถูกเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ จนกลายเป็นข้อคลางแคลงใจเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงในการลาสิกขาบทของท่าน

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียปรากฏภาพของอาจารย์มิตซูโอะ ถ่ายคู่กับหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่ง ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในลักษณะสนิทสนมราวกับเป็นคู่รัก โดยต้นตอของภาพมาจากการโพสในเฟสบุ๊คของหญิงสาวที่ปรากฎในภาพ ซึ่งใช้ชื่อว่า Suttirat Muttamara ( สุทธิรัตน์ มุตตามระ) จนกลายเป็นที่ฮือฮาและเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาอีกครั้งทั้งในโลกออนไลน์และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
มิซซูโอะ +สุทธิรัตน์
มิซซูโอะ +สุทธิรัตน์
มิซซูโอะ +สุทธิรัตน์
มิซซูโอะ +สุทธิรัตน์
( ขอบคุณภาพจาก facebook คุณ Suttirat Muttamara )
ในวันแรกที่ภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่และส่งต่อ ยังคงมีข้อกังขาอยู่ว่า ชายที่เห็นในภาพคือ อดีตพระอาจารย์มิตซูโอะจริงหรือเพียงคนหน้าคล้าย แต่หญิงสาวผู้โพสภาพก็ได้โพสข้อความในเฟสบุ๊คของเธอด้วยว่า
สุทธิรัตน์ โพส
"ขอบคุณสำหรับผู้ที่ไม่หวังดีต่อดิฉัน ที่กล่าวหาว่าดิฉันวางยา Blackmail อาจารย์มิตซูโอะ โดยมีเจตนาทำให้ดิฉันเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงทำให้อาจารย์มิตซูโอะผู้ที่มีเมตตา และความรักต่อดิฉัน จะต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของดิฉัน ด้วยการเปิดเผยความจริงต่อสังคมเร็วๆนี้ ขอบคุณอีกครั้ง"
 
จึงเป็นอันยืนยันว่า ภาพที่เห็นคือ อดีตพระอาจารย์มิตซูโอะจริงๆ
 
วิทเยน ชี้แจง
ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์มิตซูโอะกับคุณสุทธิรัตน์นั้น  ในวันต่อมา คุณวิทเยนทร์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ บลูสกายแชนเนล และเป็นน้องชายของคุณสุทธิรัตน์ ได้โพส      ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว ยอมรับว่าพี่สาวของตนเป็นคู่รัก   ของอาจารย์มิตซูโอะจริง และแสดงความเห็นว่า ทั้งสองเป็นผู้ใหญ่แล้ว และอาจารย์มิตซูโอะก็เคยบวชมาหลายสิบพรรษาโดยไม่เรื่องมัวหมองอันใด เมื่อท่านลาสิกขาบทแล้ว ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมหากทั้งคู่จะตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน
ทางด้านของอาจารย์มิตซูโอะเองก็ออกมายอมรับในเวลาต่อมา ว่าได้พาคุณสุทธิรัตน์หรือคุณแอนไปจดทะเบียนสมรสแล้ว โดยท่านบอกว่า ตลอดเวลาหลายพรรษาที่บวชมาไม่เคยประพฤติผิดให้มัวหมอง และไม่เคยคิดจะสึก แต่เมื่อพบคุณแอนก็เชื่อว่าเป็นเนื้อคู่แต่ชาติปางก่อน จึงลาสิกขาบทเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน
จดหมาย มิตซูโอะ
( จดหมายจากอาจารย์มิตซูโอะ)

( คำแถลง จาก อาจารย์มิตซูโอะ)
 
ผู้ที่ทราบเรื่องส่วนใหญ่ก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้หลายคนจะบอกว่ารู้สึกหดหู่และเสียดาย แต่ก็ยอมรับได้ ( มีบางส่วนที่เกิดอาการช็อกและรับไม่ได้ เพราะเชื่อมั่นในตัวอดีตพระจารย์ท่านนี้มาก)  และมองว่าเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่อาจารย์มิตซูโอะลาสิกขาบทเพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับหญิงสาวอันเป็นที่รัก ดีกว่าอยู่ในสมณเพศให้เป็นที่มัวหมองแก่ศาสนา ซึ่งกรณีความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์มิตซูโอะกับคุณแอนนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าไม่มีเรื่องเสื่อมเสีย เพราะก่อนหน้าที่อาจารย์มิตซูโอะจะลาสิกขาบท ก็ไม่มีภาพความสนิทสนมของทั้งคู่ให้เป็นที่ระแคะระคาย นอกเสียจากเป็นลูกศิษย์กับพระอาจารย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่มีผู้อ้างเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดออกมา “แฉ” ในมุมกลับกัน ในทำนองว่า ฝ่ายหญิงมีท่าทีพึงพอใจในตัวพระอาจารย์มาตั้งแต่ต้น พยายามหาทางใกล้ชิดสนิทสนม ในลักษณะต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ถึงกับมีเรื่องเล่าในลักษณะที่ว่า หญิงสาวผู้นี้เป็นผู้สึกพระ!!!

แต่ด้วยความที่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่เพียงใด ผมจึงไม่ขอนำเสนอรายละเอียดไว้ในที่นี้ ในตอนนี้คงเพียงขอสรุปอย่างให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายว่า อดีตพระอาจารย์มิตซูโอะเป็นพระที่เคยทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม จนได้รับความเคารพศรัทธาและเชื่อมั่นจากญาติโยมและประชาชนเป็นอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะทำใจยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

ในขณะเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่มีสิ่งที่ฟ้องว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์มิตซูโอะกับหญิงสาวอันเป็นที่รัก เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม ก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทั้งคู่ที่จะเลือกเส้นทางชีวิตตามที่ตนต้องการ แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่หักเหไปจากเดิมจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ก็ตาม
















16 มิถุนายน 2556

อาจารย์มิตซูโอะ มิฮาบาชิ ( คเวสโก) เพชรน้ำหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งเป็นที่ฮือฮาและสร้างความตกตะลึง โดยเฉพาะในวงการพระพุทธศาสนา นั่นคือ ข่าวการลาสิกขาบทของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติและเผยแพร่ศาสนา ผู้สร้างคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี ดังนั้น ข่าวการสละเพศบรรชิตของท่านจึงเปรียบเสมือนฟ้าผ่าลงมาโดยไม่มีใครคาดคิด



มิตซูโอะ มิฮาบาชิ
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เดิมชื่อ มิตซูโอะ มิฮาบาชิ เป็นชาวดินแดนซากุระ ถือกำเนิดที่จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2494 สำเร็จการศึกษาไฮสคูล  (เทียบเท่าระดับ ปวช. หรือ มศ.5 ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี ณ เมืองโมะริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ

หลังจากเรียนจบ ทำงานเก็บเงินได้ก่อนหนึ่ง มิตซูโอะ มิฮาบาชิ ในวัย 20 ปี ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2514 เพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต โดยท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นเวลา 2 ปีเศษ

จนกระทั่งท่านเข้ามาที่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ.2517 และได้เปลี่ยนแผนการเดินทางจากเดิมที่จะมุ่งหน้าต่อไปยังทวีปแอฟริกา ก็เบนเข็มกลับไปยังพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งเคยไปมาก่อนหน้านั้นแล้ว

เมื่อได้กลับไปเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐาน ณ พุทธคยา อาจารย์มิตซูโอะได้ค้นพบความจริงว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหาสัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจทุกคน ทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้ ” ท่านจึงหยุดการแสวงหาสัจธรรมภายนอก มุ่งค้นหาความสุขจากภายใน เริ่มจากการเป็นโยคี ณ สำนักโยคีแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งท่านตั้งใจจะบำเพ็ญเพียรเช่นนั้นตลอดชีวิต แต่เกิดปัญหาเรื่องวีซ่าหมดอายุ แระกอบกับได้รับคำแนะนำให้เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ท่านจึงกลับมาเมืองไทย และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
หลังจากบรรพชาได้สามเดือน  สามเณรมิตซูโอะ วัย 24 ปีได้รับคำแนะนำให้ไปกราบและศึกษาธรรมกับหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี จนสามเณรมิตซูเอะรู้สึกซาบซึ้งในพระธรรม จึงขออุปสมบท โดยหลวงพ่อชาเป็นอุปัชฌาย์ให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2518 ได้รับฉายา “คเวสโก” แปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง” นับว่าเป็นสิทธิวิหาริกรุ่นแรก คือ ลูกศิษย์รุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อชามาอย่างต่อเนื่อง ท่านเคยเล่าไว้ในหนังสือ “เราเกิดมาทำไม” ถึงแนวทางการปฏิบัติต่างๆของท่านที่บ่งบอกว่า ท่านเป็นนักปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสรูปหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการถือเนสัชชิก คือ ปฏิบัติในอิริยาบถ 3 อันได้แก่ เดิน ยืน นั่ง โดยไม่นอน ตลอดพรรษา การอดข้าวหนึ่งเดือน ฉันแต่น้ำเปล่า การเข้าห้องกรรมฐาน เก็บอารมณ์ ณ วัดสังฆทาน (หลวงพ่อสนอง) จังหวัดนนทบุรี ปิดวาจา เจริญกรรมฐาน เป็นเวลา ๒ ปี ( พ.ศ.2523 - 2524) หรือการออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้ขออนุญาตหลวงพ่อชาออกธุดงค์และปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย เป็นเวลา ๑ ปี ก่อนจะกลับมาเมืองไทยเพื่ออุปัฎฐากหลวงพ่อชาที่อาพาธร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชา และได้ปฏิบัติธรรม ณ วัดหนองป่าพง และวัดป่านานาชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา ๓ ปี  
               
การธุดงค์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพระอาจารย์มิตซูโอะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2532
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
โดยท่านและลูกศิษย์คือ พระญาณรโต ร่วมกันเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะไปยังเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และรำลึกถึงอนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพ ระยะเวลาเดิน ๗๒ วัน ระยะทางประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งตลอดทางได้โปรดญาติโยมทั้งไทยและญี่ปุ่นไปด้วยโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นติดตามถ่ายภาพทำสารคดีออกอากาศตลอดเส้นทาง ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาสายเถรวาท โดยแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบพระธุดงค์ โดยยึดปฏิบัติธุดงควัตรเป็นหลัก

และจากการธุดงค์ครั้งนั้น ทำให้พระอาจารย์มิตซูโอะได้เกิดแนวคิดดีๆจากสิ่งที่พบเห็นในระหว่างการธุดงค์ อย่างหนึ่งนั่นก็คือ การที่เห็นคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ในฐานะทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า ที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้ท่านก่อตั้งมูลนิธิมายา โคตมี ขึ้นใน พ.ศ. 2532
download
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงอุดมศึกษา ควบคู่ไปกับการจัดอบรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบทของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นสถานที่ที่ท่านได้อุปสมบทและปฏิบัติธรรม

ในปีถัดมา (พ.ศ. 2533 ) นางสุนันท์ บุษสาย คหบดีชาวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าเต่าดำ ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค ป่าลึกในเขตอุทยานไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระธุดงค์กรรมฐานศิษย์หลวงพ่อชา จึงได้ถวายที่ดิน 500 ไร่ ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่อ้อยของราษฎรในเขตบ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจัดตั้งวัด ทั้งนี้เพื่อพระสงฆ์จะได้มีเสนาสนะวัด และชาวบ้านจะได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามแนวทางสายวัดป่า พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งสำนักสงฆ์ชื่อ “วัดป่าสุนันทวนาราม” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
สำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนาราม ได้รับการฟื้นฟูทั้งพื้นที่ตั้งและพื้นที่ป่าโดยรอบ เพื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ภายใต้การนำของพระอจารย์มิตซูโอะ คเวสโก โดยเริ่มสร้างสถานที่อบรมและปฏิบัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2539 และพระอาจารย์มิตซูโอะได้เริ่มอบรมการปฏิบัติธรรมแบบอานาปานสติแก่ญาติโยมเป็นครั้งแรกในปลายปี 2539 ก่อนจะมีการเปิดอบรมตามคำขอของสถานบันต่างๆที่ส่งบุคคลากรเข้ามารับการอบรมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนาราม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดย สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นองค์ประธานประกอบพิธีตัดลูกนิมิต ผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดสุนันทวนาราม ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ส่งผลให้วัดป่าสุนันทวนราม ได้สถาปนาเป็นวัดโดยสมบูรณ์และดำรงสถานภาพเป็นวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และได้มีการแต่งตั้งพระมิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก้
ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่พระอาจารย์มิตซูโอะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาทั้งสถานที่ตั้งวัด สภาพผืนป่าโดยรอบ รวมทั้งพัฒนาจิตใจของญาติทั้งในและนอกพื้นที่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอบรม ปฏิบัติธรรม การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนและแนวทางการปฏิบัติตามวิถีพุทธผ่านทางผลงานเขียนหนังสือมากมายหลายเล่ม จึงนับได้ว่า ท่านเป็นเพชรน้ำหนึ่งอันล้ำค่าอีกเม็ดหนึ่งของวงการพระพุทธศาสนา

แต่แล้วจู่ๆเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา มีข่าวว่า พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้ลาสิกขาบทที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร และเดินทางกลับบ้านเกิดของท่านที่ประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงและประหลาดใจแก่ผู้ที่ได้รับทราบเป็นอย่างมาก จนอีกสองวันต่อมา ( 10 มิ.ย.56 ) ได้มีแถลงการณ์จากพระอาจารย์หนูพรม สุขาโต รักษาการณ์เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม ยืนยันว่า พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้ลาสิกขาบทและเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นแล้วเป็นความจริง
มิตซูโอะ1
สำหรับเหตุผลของการลาสิกขาบทนั้น ผู้ใกล้ชิดให้เหตุผลว่า อาจารย์มิตซูโอะมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งท่านเคยปรารภว่าอาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสถานภาพของสมณะ ท่านจึงลาสิกขาบทเพื่อรักษาตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นท่านก็ยังคงยืนยันปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนต่อไป โดยเหตุผลที่ท่านเดินทางกลับญี่ปุ่น ก็เพื่อต้องการกลับไปช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติของท่านด้วย

ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง ผมเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาและปณิธานของอาจารย์มิตซูโอะ และเชื่อว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสมณเพศหรือคฤหัสถ์ อาจารย์มิตซูโอะ ก็จะยังคงเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าอยู่เสมอ ประดุจเพชรน้ำหนึ่งที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด คุณค่าของความเป็นเพชรก็ยังจะคงอยู่ตลอดไป

2 มิถุนายน 2556

ทนุธรรม จันโทกุล “กู้ภัยหน้าผี” ผู้อุทิศตนทำความดี จนกลายเป็น “กู้ภัยเทวดา”

เมื่อวันศุกร์ ( 31 พ.ค.) ที่ผ่านมา รายการ “ปากโป้ง” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เวลา 10.30 น.และ 21.00 น.ดำเนินรายการโดย หนุ่ม -กรรชัย กำเนิดพลอย และเข็ม – ลภัสดา ( รุจิรา)  ช่วยเกื้อ  ได้นำเสนอเรื่องราวของอาสาสมัครกู้ภัย “ป่อเต็กตึ๊ง” รายหนึ่ง ซึ่งเคยประสบอุบัติเหตุถูกไฟคลอกจนเสียโฉม แต่รอดชีวิตมา และเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ที่ปฏิญาณตนว่าทำความดี ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบภัยไปจนตลอดชีวิต

กู้ภัยหน้าผี
เขาคือ นายทนุธรรม จันโทกุล วัย 56 ปี เจ้าของฉายาที่เคยถูกเรียกกันในวงการกู้ภัยว่า “กู้ภัยหน้าผี” ซึ่งปัจจุบันได้มีคนเปลี่ยนสมญาใหม่ให้เขาเป็น “กู้ภัยเทวดา”


ผมได้ดูคลิปย้อนหลังทาง Youtube ที่ทางช่อง 8 อัพโหลดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วเกิดความรู้สึกหลายอย่าง ทั้งเวทนาในชะตากรรม ในขณะเดียวกันก็ชื่นชมและตื้นตันใจในความตั้งใจดีอันแน่วแน่ของชายคนนี้ และที่สุดแล้วผมจึงไม่ลังเลที่จะนำเรื่องราวของเขามาถ่ายทอดต่อในบล็อก “ไอดอลแมน” นี้

คุณลุงทนุธรรม หรือที่เพื่อนร่วมวงการกู้ภัยเรียกว่า “ป๋า” เคยประสบอุบัติเหตุถูกไฟคลอกในเหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ.2533 ซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งนั้นก่อให้เกิดความเสียหายและมีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นฝันร้ายที่ยังหลอกหลอนใครหลายคนอยู่ รวมถึง “ป๋า” ที่ถึงแม้จะรอดชีวิตมาได้ด้วยการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่นำส่งโรงพยาบาลได้ทัน แต่ “ป๋า”ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกไฟคลอกเป็นบริเวณกว่า 40 % ของร่างกาย ซึ่งหมอบอกว่า ต้องใช้เวลารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาถึง 4 ปี

แต่ด้วยความอึดอัดและไม่อยากนอนโรงพยาบาล “ป๋า” จึงตัดสินใจหนีออกมา หลังจากนอนพักรักษาตัวอยู่ได้เพียง 4 เดือนและผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 9 ครั้ง

เมื่อหนีออกมาจากโรงพยาบาล แทนที่จะกลับไปนอนพักหรือใช้ชีวิตอย่างคนเจ็บ ทว่า “ป๋า”กลับตั้งเจตจำนงว่าจะเข้าไปเป็นอาสาสมัครกู้ภัยของป่อเต็กตึ๊ง ด้วยความสำนึกในบุญคุณของมูลนิธิดังกล่าวที่ช่วยชีวิตตนไว้ จึงอยากจะใช้ชีวิตที่รอดมาได้ในการทำประโยชน์ส่งต่อแก่ผู้เดือดร้อนรายอื่น

แต่สภาพร่างกายที่ไม่เต็มร้อยก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการจะทำตามความตั้งใจของป๋าในยุคแรกๆ เพราะพิษจากไฟนรกคราวนั้นไม่ได้ทำลายแค่ผิวหนังของป๋า ทว่ายังพาเอาประสาทสัมผัสของดวงตาข้างขวาและหูข้างซ้ายของป๋าไปด้วย  แต่ป๋าก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เมื่อยังเข้าร่วมมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งไม่ได้ในช่วงแรก ป๋าจึงเข้าไปทำงานกับชมรมวิทยุฉิมพลี ซึ่งทำงานอาสาสมัครในลักษณะเดียวกัน และป๋ามีคนรู้จักอยู่ในชมรมดังกล่าว ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือให้เข้ามาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยของป่อเต็กตึ๊งสมใจ
กู้ภัยหน้าผี
แม้เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยฯได้แล้ว ป๋าก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาส สบประมาทในช่วงแรกๆจากกู้ภัยคนอื่นๆ ในทำนองว่า สภาพร่างกายแบบนี้น่าจะไปรักษาตัวมากกว่าจะมาช่วยเหลือคนอื่น แต่ป๋าทนุธรรมก็ยังยืนหยัดในความตั้งใจอันแน่วแน่ของตน

ซึ่งอันที่จริง ป๋าไม่ได้แค่ความตั้งใจเท่านั้น แต่ป๋ายังสามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือ กู้ภัยได้จริง และทำได้ดีจนกลายเป็นที่ยอมรับทั้งของเพื่อนร่วมวงการและประชาชนทั้วไปในเวลาต่อมา

ฉายา “กู้ภัยหน้าผี” กลายเป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญ ในฐานะที่เป็นอาสาสมัครกู้ภัยที่เดินหน้าปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เต็มที่  จากคำบอกเล่าของเพื่อร่วมงาน ป๋าทนุธรรมจะเป็นมักจะขี่มอเตอร์ไซค์ฮาเลย์ไปถึงจุดเกิดเหตุเป็นคนแรก ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของฉายา “โกสต์ไรด์เดอร์ ” อีกฉายาหนึ่งที่กู้ภัยหนุ่มๆเรียกป๋า
นอกจากนี้ วีรกรรมอันน่ายกย่องของ “กู้ภัยหน้าผี” ยังปรากฎเด่นชัดในช่วงมหาอุทกภัย เพื่อนร่วมงานเล่าว่า ป๋าจะเป็นคนลุยเข้าไปลากจูงศพผู้เสียชีวิตที่ลอยตามน้ำออกมา ซึ่งไม่ค่อยมีอาสาสมัครคนใดอยากรับหน้าที่ดังกล่าว แต่ “กู้ภัยหน้าผี” คนนี้ยินดีทำอย่างไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง จนกลายเป็นบุคคลที่เป็นที่ต้องการและถูกเรียกหาเสมอ

และด้วยวีรกรรมเด่นในช่วงน้ำท่วม ทำให้เขาได้รับสมญานามใหม่เป็น “กู้ภัยเทวดา” เรื่องของเรื่องก็คือว่า ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2554 ป๋าทนุธรรมไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแถวบางบัวทอง มีสื่อมวลชนรายหนึ่งที่ตามไปทำข่าว และเรียกฉายาป๋าทนุธรรมว่า “กู้ภัยหน้าผี” เมื่อชาวบ้านได้ยิน จึงทักท้วงให้เปลี่ยนฉายาใหม่ เรียกเขาว่า “กู้ภัยเทวดา” แทน

กู้ภัยหน้าผี4
แต่สำหรับความรู้สึกของเจ้าของฉายา ป๋าทนุธรรมบอกว่า ไม่ว่าใครจะเรียกอย่างไรเขาก็ไม่สน เพราะสิ่งสำคัญในใจของเขาคือ การได้ทำหน้าที่ข่วยเหลือผู้เดือดร้อน ซึ่งเป็นปณิธานอันแน่วแน่ แม้บางครั้งกำลังใจจะสั่นคลอนไปบ้าง อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกลับมา แล้วพบว่าสำนักงานกู้ภัยของตนเองถูกน้ำท่วม พัดพาทรัพย์สินสูญหายไปเกือบหมด แต่เขาก็ไม่ท้อ ยังลุกขึ้นยืนหยัดและเดินหน้าทำความดีต่อไป และเมื่อได้รับคำถามว่า ตั้งใจจะทำต่อไปถึงเมื่อไหร่ กู้ภัยเทวดาก็ตอบอย่างมั่นใจว่า

“จะทำไปจนตายครับ….!!”
(ชมคลิป รายการ "ปากโป้ง" สัมภาษณ์ คุณทนุธรรม จันโทกุล "กู้ภัยหน้าผี/กู้ภัยเทวดา")