26 พฤษภาคม 2556

สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังท่าทีแข็งกร้าว ของผู้นำกองทัพที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา


ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ.) คือตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกองทัพบก ซึ่งตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการทหาร ด้านการรักษาความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการพัฒนาประเทศในฐานะผู้นำเหล่าทัพที่มีกำลังพลในความควบคุม ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆได้ไม่น้อย

แต่ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกด้านหนึ่ง ทำให้ผู้ที่รับตำแหน่งนี้หลายท่านกลายเป็นบุคคลที่ถูกจับตามองในวงการเมือง และมีภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น ทั้งในแง่บวกและลบ

หนึ่งในนั้นคือ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกท่านปัจจุบัน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งมาตั้งแต่ 1 ต.ค.2553
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา :ไอดอลแมน

แต่ในวันนี้ บล็อก“ไอดอลแมน” มิได้หยิบยกเรื่องราวของท่านมานำเสนอในแง่มุมวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง หากแต่เป็นมุมมองด้านการเป็นบุคคลตัวอย่าง โดยเฉพาะในความเป็นผู้นำและความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า คุณลักษณะสองประการนี้ปรากฏอยู่ในตัวผู้นำสูงสุดของกองทัพบกท่านนี้อย่างเด่นชัด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวัติความเป็นมาโดยคร่าวๆของท่าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “บิ๊กตู่” เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2497 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ( ตท.12) นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23

เส้นทางชีวิตราชการ “บิ๊กตู่” เริ่มต้นรับราชการที่หน่วย “ทหารเสือราชินี” ( กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ.) ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2  กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ( ผบ.ร.21 พัน.2 รอ.)  เป็นเสนาธิการกรมฯ รองผู้บังคับกรม และขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมฯตามลำดับ ก่อนจะย้ายมาเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ( พล.ร.2 รอ.) และเป็นผู้บัญชาการกองพลฯ  ต่อจากนั้นได้รับตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ในยุคที่ “บิ๊กป๊อก” พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา ( ยศในขณะนั้น) เป็นแม่ทัพภาค และ “บิ๊กบัง” พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่นำโดยบิ๊กบังนั้น “บิ๊กตู่”ซึ่งขณะนั้นมียศพลตรี เป็นนายทหารคนหนึ่งที่มีบทบาทในการยึดอำนาจจากอดีตนายกฯทักษิณ โดยรับคำสั่งตรงจาก “บิ๊กป๊อก” ซึ่งว่ากันว่าเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่สนิทกันมาก เมื่อ “บิ๊กป๊อก”ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก “บิ๊กตู่” ก็ได้เลื่อนยศเป็น “พลโท” และครองตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 สืบต่อมา  รวมถึงการได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คมช. , เป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน , รองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน   , เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ( ภายหลังจากได้รับตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้ว )  และเป็นหนึ่งในคณะดำเนินคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา พ.ศ. 2554
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา17
พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ต่อจากพลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน

ด้านชีวิตครอบครัว พลเอกประยุทธ์ สมรสกับรองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝดสองคนคือ น.ส.ธัญญา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ มีภาพลักษณ์เด่นในเรื่องความมีภาวะผู้นำสูง โดยเฉพาะภายหลังรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และมีภาพออกสื่อที่คุ้นตากันดีคือ ท่าทางที่ขึงขัง และน้ำเสียงที่หนักแน่น แข็งกร้าวเวลาให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการพาดพิงถึงกองทัพหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งชื่นชมในความเข้มแข็ง เด็ดขาด บุคคลิกสมกับความเป็นผู้นำทหาร ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวเกินไป และหลายครั้งก็กลายเป็นภาพด้านลบที่เสมือนว่าท่านใส่อารมณ์รุนแรงในการตอบโต้กับสื่อมวลชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา2
แต่หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะมายืนอยู่จุดนี้ “บิ๊กตู่”ผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่มีความสุขุมนุ่มลึกและการแสดงออกที่นุ่มนวลมาแต่ไหนแต่ไร ว่ากันว่า แต่ก่อนนั้น ท่านจะลงท้ายคำพูดของท่านว่า “นะจ๊ะ”อย่างติดปาก จนได้ฉายาว่า “ตู่นะจ๊ะ” และในช่วงที่ท่านเริ่มปรากฏตัวออกสื่อเป็นช่วงแรกๆในฐานะ “น้องรัก”ของ พลเอกอนุพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น สื่อหลายแขนงก็เอ่ยปากชมว่า ท่านเป็นนายทหารที่มีบุคคลิกอ่อนโยนกว่าพลเอกอนุพงษ์อย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นเสียง ( แอบ) เชียร์ให้ท่านเป็นผู้รับตำแหน่งต่อจากพล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งที่จริงท่านก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดต ผบ.ทบ.อยู่แล้ว

จนเมื่อท่านได้รับตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตามคาดหมายของใครหลายๆคน ท่าทีที่เปลี่ยนไปเป็นแข็งกร้าวขึ้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า “บิ๊กตู่เปลี่ยนไป” แต่ในขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่จำนวนไม่น้อยก็เข้าใจ ว่านั่นคือการปรับตัวเพื่อแสดงภาวะผู้นำให้สมกับ “หัวโขน” ที่สวมอยู่ เนื่องด้วยท่านเข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคุกรุ่น มีการพาดพิงและดึงกองทัพเข้าไปพัวพัน มีการพยายาม “ดิสเครดิต” สถาบันทหาร แล้วยังจะสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ที่ยังเรื้อรัง  ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกองทัพ รวมไปถึงขวัญและกำลังใจของทหารเองด้วย ภาพของผู้นำกองทัพที่เข้มแข็งจึงมีความจำเป็นและสำคัญในการกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ เองก็เคยยอมรับว่า การแสดงที่แข็งกร้าวจนหลายฝ่ายมองว่าเป็นเหมือนการกร้าวร้าวนั้น จริงๆแล้วก็เพียงแค่การแสดงภาวะผู้นำ แต่โดยเนื้อแท้ของท่านแล้วไม่ได้มีความคิดเป็นปฏิปักษ์หรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกับกลุ่มการเมืองใดๆทั้งสิ้น ท่านพร้อมที่จะร่วมงานกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและส่วนรวมให้มากที่สุด

และเมื่อมองด้วยใจเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมแก่ท่าน จะพบว่า นับตั้งแต่ท่านเข้ามารับตำแหน่ง กองทัพบกภายใต้การบัญชาการของท่านได้ถูกขับเคลื่อนให้เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชนจนเป็นที่กล่าวขวัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นเด่นชัด คือ ในสถานการณ์มหาวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ที่กองทัพบกส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ออกช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน ทั้งการช่วยลำเลียงผู้คนและทรัพย์สินออกจากพื้นที่ประสบภัย การแจกถุงยังชีพ การสนับสนุนยานยนต์ขนส่งในการเดินทาง จนกระทั่งช่วยฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยภายหลังน้ำลด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยกนิ้วว่า ทหารคือ “ฮีโร่”ของพวกเขาเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ในฐานะผู้นำสูงสุดของเหล่าทัพ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีบทบาทสำคัญในการนำกองทัพประกาศสงครามกับยาเสพติด และเดินหน้าแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งเมื่อแม่ทัพใหญ่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเดินเกมรุกเช่นนั้น บรรดาทหารตั้งแต่แม่ทัพนายกองลงไปต่างก็มีขวัญและกำลังใจในการสนองตอบต่อนโยบายของผู้นำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสงบสุขร่มเย็นของปวงประชา

ในด้านการบำรุงขวัญและกำลังใจของกำลังพลในกองทัพ ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ผู้บัญชาการทหารบกท่านนี้เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการและดูแลความเป็นอยู่ของกำลังพลและครอบครัว รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆอย่างเต็มที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา9
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือ การสนับสนุนด้านกีฬา แก่สโมสรฟุตบอล อาร์มี่ ยูไนเต็ด ( ทีมทหารบกเดิม) ด้วยการเป็น ผบ.ทบ.ท่านแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานสโมสรฯด้วยตนเอง ( จากแต่เดิมที่เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้) ซึ่งก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งแค่ในนาม ทว่า “บิ๊กตู่” ยังลงไปดูแลทีมอย่างใกล้ชิด ด้วยการติดตามชมและเชียร์การแข่งขันแทบทุกนัด และสนับสนุนการปฏิรูปทีมใหม่ จนวันนี้ “อาร์มี่ ยูไนเต็ด” กลายเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลไทยที่แข็งแกร่งและเป็นที่จับตามองของคู่แข่งขัน

อีกภาพลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา คือความเป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติเป็นอย่างสูง จะเห็นได้จากการออกมาตอบโต้บุคคลผู้แสดงออกในลักษณะพาดพิงสถาบันอย่างรุนแรงและเด็ดขาดในหลายๆครั้ง อย่างล่าสุดก็กรณีที่รายการโทรทัศน์ “ตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ” ทางสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย ( ThaiPBS) นำเสนอมุมมองของนักวิชาการในลักษณะพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาตอบโต้อย่างหนักหน่วง ถึงกับเอ่ยปากไล่ตะเพิดว่า หากใครที่อึดอัดใจหรือไม่มีความสุขกับการอยู่ในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ให้ออกไปจากประเทศ เพราะประเทศไทยของเราที่อยู่รอดปลอดภัยและสงบสุขร่มเย็นตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ก็ด้วยพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ นับเป็นปรากกฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก ที่บุคคลระดับผู้นำกองทัพออกโรงตอบโต้ด้วยตนเอง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา21
จากภาพลักษณ์ดังกล่าว แม้จะถูกวิจารณ์จากคนบางกลุ่มในทำนองว่า เป็นผู้ผูกขาดความจงรักภักดี หรือแสดงออกในลักษณะสุดโต่งจนเกินไป แต่นั่นก็คือภาพต้นแบบสำคัญที่ปลุกกระแสความจงรักภักดี ไม่เฉพาะแค่ในหมู่ทหาร หากแต่ยังขยายวงกว้างออกไปยังประชาชนทั่วไป ซึ่งล้วนแต่มีความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับแรงกระตุ้นและหนุนนำจากการแสดงออกของผู้นำกองทัพ จึงกลายเป็นหนึ่งในพลังเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการมุ่งโจมตีของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ดังที่เห็นปรากฏอยู่ในทุกวันนี้

จากคุณลักษณะที่โดดเด่นที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้รับการโหวตให้เป็นสุดยอด ซีอีโอ CEO ของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจของตัวแทนกลุ่มธุรกิจ SME ใน 5 อันดับแรกหรือ ท็อปไฟว์ โดยได้รับคะแนนนำเป็นอันดับที่หนึ่ง ร้อยละ 59.1 ด้วยความเป็นสุดยอดของความเป็นผู้นำ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ สมาร์ท สมกับเป็นชายชาติทหาร ฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อกองทัพ ทำให้กองทัพเป็นกองทัพของประชาชน รวดเร็วฉับไวไม่ทอดทิ้งประชาชน เป็นต้น

และก็เป็นเหตุผลสำคัญที่บล็อก “ไอดอลแมน” นำเอาเรื่องราวของท่านมาถ่ายทอดในฐานะบุคคลต้นแบบอีกคนหนึ่งของสังคมไทย
 

19 พฤษภาคม 2556

ฉีกซอง (ประวัติ) “เถ้าแก่น้อย” สัมผัสรสชาติ ( ชีวิต) แบบเต็มคำ! (ตอนจบ)

( ต่อจาก ตอนที่แล้ว )
หลังจากตกปากรับคำว่า จะผลิตสาหร่ายทอดป้อนเข้าสู่ร้าน 7 –11 กว่า 3,000 สาขาภายในเวลา 3 เดือน ก็ต้องเรียกว่า “งานช้าง” สำหรับ “เถ้าแก่น้อย” ต๊อบ - อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วนิชย์ เลยทีเดียว เพราะการจะทำให้สำเร็จตามนั้นได้ ต้องมีทั้งโรงงาน วัตถุดิบ เงินทุน เครื่องจักร รวมไปถึงแรงงานอย่างเพียงพอ แต่ ณ เวลานั้นเขายังไม่มีสักอย่าง!!!

เถ้าแก่น้อย
นักหนุ่มวัยยี่สิบปีผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ยื่นเรื่องขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาลงทุน แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ด้วยเหตุผลเพียงว่า ผู้ยื่นแผนธุรกิจขอกู้เงิน คือต๊อบนั้นมีอายุเพียง 20 ปี!! โดยทางธนาคารแทบจะไม่ได้มองถึงแผนธุรกิจที่เขายื่นเลยด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น ต๊อบจึงตัดสินใจเสี่ยงวัดดวงอีกครั้ง ด้วยการตัดใจขายเฟรนไชน์ธุรกิจเกาลัดทั้ง 30 สาขาของเขา ซึ่งต๊อบบอกว่า เป็นเรื่องที่ทำใจลำบากมากสำหรับความรู้สึกของคนที่สร้างธุรกิจขึ้นมากับมือแล้วต้องปล่อยให้หลุดมือไป

“…..เหมือนกับเรามีรถดีๆ สักคันขับอยู่แล้ว แต่กำลังอยากได้รถคันใหม่ แต่ไม่รู้หรอกว่า รถคันใหม่จะดีหรือเปล่า และช่วงที่ขายรถคันเก่าออกไป ต้องยอมนั่งรถเมล์ไปก่อน….” เจ้าของแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” กล่าวถึงความรู้สึกในช่วงนั้น

แต่ถึงจะเสี่ยงอย่างไร แต่เมื่อเดิมพันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ต๊อบจึงยอมเสี่ยง ขายเฟรนไชน์เกาลัดได้เงินหลักล้าน นำมาทุ่มสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอดอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็นตึกแถวที่แปลงเป็นโรงงานมากกว่า ซึ่งผ่านการประเมินคุณภาพมาตรฐานการผลิตของ 7-11 มาอย่างฉิวเฉียด คือ 55% ( เกณฑ์ผ่าน 50 %) แต่ก็ถือว่าเป็นการเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นของต๊อบ และการส่งเสริมสนับสนุนของคนในครอบครัว (รวมไปถึงคนข้างบ้าน! ) กับคนงานอีก 6-7 คน ที่มาร่วมด้วยช่วยกันอดตาหลับขับตานอน เร่งผลิตสาหร่ายทอดให้ทันเวลาและเพียงพอตามจำนวนที่ต้องการ


เถ้าแก่น้อย
คุณต๊อบเล่าว่า ทุกคนทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อจะให้เสร็จทันเวลา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเกือบไม่ทัน เพราะในวันกำหนดนัดส่งสินค้า สินค้าทั้งวหมดพร้อมส่งในเวลาหกโมงเช้าวันนั้นพอดี ต๊อบรีบขับรถบรรทุกสาหร่ายไปส่งที่คลังสินค้าของ 7-11 แต่ก็สายกว่าเวลานัดประมาณครึ่งชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการรับสินค้าเห็นใจในสภาพที่ซูบโทรมจากการโหมงานหนักของต๊อบ จึงได้รับสินค้าไว้ และกระจายสินค้าวางจำหน่ายในรอบนั้น โดยที่ไม่ต้องรอรอบต่อไป

ผลลัพธ์จากความตั้งใจและมุ่งมั่นของต๊อบตอบแทนกลับมาอย่างน่าชื่นใจ เมื่อสาหร่ายทอด “เถ้าแก่น้อย” ได้รับการตอบรับจากตลาด และมียอดขายเจริญเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ ใช้เวลาไม่นานก็กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและติดปากผู้บริโภค ยิ่งเมื่อต๊อบเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก เร่งสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชนิดที่ว่า เอ่ยถึง “เถ้าแก่น้อย” ต้องนึกถึง สาหร่ายทอด อะไรประมาณนั้นด้วยแล้ว ภาพแห่งความสำเร็จของแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้น ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ผู้สร้างผลิตภัณฑ์ภายใตแบรนด์นี้ขึ้นมา กลายเป็น “เถ้าแก่น้อย” เศรษฐีพันล้านตั้งแต่อายุเพียง 23 ปี
เถ้าแก่น้อย
ปัจจุบัน สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “เถ้าแก่น้อย” ยังคงพัฒนาและขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากตลาดภายในประเทศแล้ว ยังขยับขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวั่น อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมด อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ปีที่ชื่อ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วนิชย์
เถ้าแก่น้อย
และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวตัวอย่างความสำเร็จของคนๆหนึ่ง ที่ผมเชื่อว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอีกจำนวนไม่น้อย

18 พฤษภาคม 2556

ฉีกซอง ( ประวัติ) “เถ้าแก่น้อย” สัมผัสรสชาติ ( ชีวิต) แบบเต็มคำ! (ตอนที่ 2)

( ต่อจาก ตอนที่แล้ว)
ตอนที่เริ่มทำธุรกิจขายเกาลัดนั้น ต๊อบ -อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วนิชย์ ยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอยู่ แต่ดูเหมือนว่า การเรียนรู้จากชีวิตจริงนอกห้องเรียนจะดึงดูดความสนใจของเขาได้มากกว่า
เถ้าแก่น้อย

ธุรกิจขายเกาลัดในห้างสรรพสินค้าสองแห่ง คือ เดอะมอลล์รามคำแหง และบิ๊กซีบางใหญ่ มียอดขายต่ำมากจนต๊อบคิดว่าคงต้องปิดกิจการ แต่แล้วก็เหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อพนักงานห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสคนหนึ่งโทรติดต่อให้เขาไปขายเกาลัดในงานเทศกาลกินเจ ที่โลตัสสาขาแจ้งวัฒนะ ซึ่งจัดงานเป็นเวลา 14 วัน ต๊อบจึงตัดสินใจที่ลองดูอีกครั้ง ด้วยการย้ายเครื่องคั่วเกาลัดทั้งสองเครื่องจากสองห้างที่ตั้งขายเดิม ไปลงที่งานเทศกาลกินเจ โดยจุดที่ตั้งจำหน่าย คือบริเวณทางออกของเคาน์เตอร์ ( Check out counter) ผลปรากฏว่าสถานการณ์ตรงข้าม คือ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้ต๊อบได้บทเรียนใหม่ว่า ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขาย คือ กลุ่มเป้าหมาย และ ทำเล

ต๊อบแจ้งพนักงานที่ติดต่อเขาว่า ถ้ามีงานก็ให้ติดต่อเขามาได้อีก ก่อนที่เขาจะกลับมาเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขาย ด้วยการลดต้นทุน โดยยกเลิกการเช่าเครื่องคั่วเกาลัด (ที่เช่าจากจากบริษัทญี่ปุ่น ในราคาเดือนละ 50,00 บาท ) แล้วไปซื้อเครื่องคั่วเกาลัดที่กล้วยน้ำไท ตามที่คุณพ่อเคยแนะนำว่าราคาถูกกว่ากันมาก เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก ส่งผลให้สามารถขยายกิจการจาก 2 สาขา เป็น 30 สาขา ทำรายได้เดือนละกว่าสองล้านบาท


เถ้าแก่น้อย
ช่วงนี้เองที่ต๊อบตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยมาทำธุรกิจอย่างเต็มตัว ด้วยเหตุผลสามประการคือ หนึ่ง ฐานะของทางบ้านเข้าขั้นวิกฤต บ้านถูกยึดแล้ว เขาถึงตัดสินใจเผชิญกับปัญหา ด้วยการลาออกมาทำธุรกิจขายเกาลัดเต็มตัว สอง ความที่เป็นคนรู้จักตัวตนตั้งแต่เด็ก ทำให้เขารู้ว่าตัวเองรักในการทำธุรกิจ เรียนหนังสือไปเรียนตอนไหนก็ได้ และสาม เขาเป็นคนรักแม่มาก กลัวแม่ลำบาก

แต่ดูเหมือนโชคชะตายังคงสนุกกับการกลั่นแกล้งเด็กหนุ่มผู้นี้ เพราะในเวลาต่อมา มีการเปลี่ยนผู้บริหารของเทสโก้โลตัส ผู้บริหารท่านใหม่เป็นชาวต่างชาติ ต้องการให้ร้านเกาลัดของต๊อบย้ายทำเล เนื่องจากควันจากการคั่วทำให้ผนังเพดานของห้างเปลี่ยนสี แล้วผู้บริหารยังอ้างว่ายังมีกลิ่นรบกวนด้วย  ถ้าคุณเคยดูหนัง “วัยรุ่นพันล้าน” คงจำฉากในหนังช่วงนี้ได้ว่า ต๊อบพยายามต่อรองขออยู่ที่เก่าซึ่งเป็นทำเลทอง ซึ่งต้องแลกกับการทาสีเพดานใหม่ ติดตั้งเครื่องระบายควัน แม้กระทั่งยอมงดการคั่วเกาลัดสด ซึ่งส่งผลให้ยอดขายตกจนน่าใจหาย

แค่ด้วยหัวใจนักสู้ ต๊อบไม่ยอมท้อถอย วันหนึ่งเขาเดินไปดูร้านไอศครีม “เดลี่ควีน” เห็นมีไส้กรอกวางขายด้วยนอกจากไอศครีม ทำให้เกิดแนวคิดว่า น่าจะหาสินค้าอื่นมาวางขายด้วย จึงเริ่มจากลูกพลับจีนตากแห้ง  ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะชดเชยยอดขายเกาลัดที่ตกไป


เถ้าแก่น้อยวันหนึ่งต๊อบไปรับแฟนตามปกติ และสังเกตเห็นแฟนกินขนมอย่างหนึ่งเมื่อขึ้นมานั่งบนรถ จึงขอลองชิมดูบ้าง และทราบว่ามันคือ สาหร่ายทอดรสชาติอร่อยที่แฟนซื้อมา เขาจึงขอไปฝากคนที่บ้านหนึ่งห่อ ปรากฏว่าทุกคนที่บ้านต่างก็ชอบรสชาติของมัน และฝากแฟนของต๊อบซื้อเป็นจำนวนมาก จนถูกบ่นว่าเป็นภาระของเธอ แต่ตัวต๊อบเองกลับมองเห็นเป็นช่องทางธุรกิจ ที่จะนำสาหร่ายทอดมาวางขายควบคู่กับเกาลัด

และก็ได้ผลดีเกินขาด ยอดขายสาหร่ายทอดสูงกว่ายอดขายเกาลัดเสียอีก ถึงขนาดว่าพนักงานขายต้องเก็บไว้ให้ลูกค้าเจ้าประจำ โดยไม่นำมาโชว์เหมือนเคย และต๊อบเองก็สังเกตว่า ลูกค้าที่ติดใจรสชาติสาหร่ายทอดนั้นมีทุกเพศทุกวัย จึงเกิดความคิดที่จะขยายพื้นที่วางจำหน่ายสาหร่ายทอด

เยาวราชคือพื้นที่แรกของปฏิบัติการขยายตลาดสาหร่ายทอดของต๊อบ ทว่าผลตอบรับกลับไม่เป็นดังคาด ด้วยความที่เป็นสินค้าอายุสั้น เก็บได้ไม่นาน ประกอบกับรูปลักษณ์ไม่โดดเด่น ทำให้สินค้าไม่ได้รับความสนใจ

ต๊อบจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เผอิญได้แนวคิดจากการให้สัมภาษณ์ของนักธุรกิจท่านหนึ่งทางทีวี ที่พูดถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบป่าล้อมเมือง และเมื่อเขาออกไปข้างนอก เห็นร้าน 7-11 มีอยู่ทั่ว จึงตีความเอาว่า ร้าน 7-11 คือป่าที่ล้อมเมืองอยู่ ถ้าสามารถนำสินค้าวางขายในร้านสะดวกซื้อดังกล่าวได้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง

แม้จะเป็นการตีความที่ไม่ตรงตามหลักการ ทว่าก็เป็นผลดีต่อธุรกิจของเขาในอนาคต แม้จะต้องลำบากลำบนกันในช่วงแรกก็ตาม

เริ่มจากการที่ต๊อบนำสาหร่ายทอดของเขาบรรจุใส่ถุงพลาสติกธรรมดาไปนำเสนอกับสำนักงานใหญ่ของ 7 –11 โดยฝากไว้กับฝ่ายคัดสรรสินค้า แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีการตอบรับกลับมา จนต๊อบต้องเป็นฝ่ายสอบถามเข้าไปเอง จึงได้รับคำตอบว่า สินค้าของเขาหมดอายุเร็ว รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ไม่สวยงาม และราคาสูงเกินกว่าจะได้รับการคัดสรรให้วางจำหน่ายใน 7 –11

แม้จะเป็นคำตอบที่ทำให้ผิดหวัง แต่ต๊อบก็ไม่ยอมแพ้ เขากลับมาปรับปรุงสาหร่ายของเขาใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการขอข้อมูลเกี่ยวกับการถนอมอาหารเพื่อรักษาสาหร่ายทอดไม่ให้หมดอายุเร็วจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีการสร้างโลโก้ของสินค้า โดยดึงเอากระแสเกาหลี ญี่ปุ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ จนได้โลโก้เป็นรูปเด็กยิ้มที่ดูน่ารักและมีความสุข พร้อมกับถือธงเป็นสัญลักษณ์ว่า ถึงแม้จะเป็นของกินเล่น แต่ก็ให้คุณค่าทางอาหารสูง


เถ้าแก่น้อย
เมื่อปรับรูปโฉมสินค้าแล้ว ต๊อบก็กลับไปนำเสนอที่ 7 –11 อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจเหมือนเดิม เพราะแม้แต่คนที่นัดให้เขานำสินค้ามาเสนอ เมื่อถึงเวลานัดก็ยังไม่มา ต๊อบจึงตัดสินใจฝากสินค้านั้นไว้อีกครั้ง ก่อนจะกลับบ้านด้วยความหวังที่เหลือน้อยเต็มที

แต่แล้วโชคชะตาก็คงจะเห็นใจและเข้าข้างความมานะพยายามของเด็กหนุ่ม เมื่อตัวแทนจาก 7-11 ติดต่อกลับมาว่า สินค้าที่เขาฝากไว้นั้นได้ถูกแกะให้ผู้ใหญ่ของ 7-11 ลองชิมดูแล้ว เป็นที่พอใจ จึงสอบถามเขาว่า พร้อมที่จะผลิตสินค้า คือ สาหร่ายทอด นั้นเพื่อวางขายในร้าน 7-11 จำนวน 3,000 สาขาทั่วประเทศภายในเวลา 3 เดือนหรือไม่

แม้จะไม่แน่ใจนัก แต่เมื่อโอกาสมาเคาะประตูเรียกแล้ว ต๊อบจึงรีบตอบรับทันที ก่อนจะมานั่งกุมขมับคิดหาหนทางผลิตสาหร่ายทอดให้เพียงพอและทันเวลาตามที่ 7-11 กำหนด
( ติดตามอ่าน ตอนต่อไป)

17 พฤษภาคม 2556

ฉีกซอง(ประวัติ) “เถ้าแก่น้อย” สัมผัสรสชาติ( ชีวิต)แบบเต็มคำ!

คงมีคุณผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่เคยได้ลิ้มลองและติดใจรสชาติของผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า “เถ้าแก่น้อย” และหลายท่านก็คงจะรู้จักชายหนุ่มนักธุรกิจไฟแรงเจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ทั้งจากข้อมูลที่หาไม่ยากตามอินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่วงการบันเทิงก็ยังมีการนำเอาเรื่องราวชีวิตของเขาไปสร้างเป็นภาพยนต์ “วัยรุ่นพันล้าน” ที่ฉายไปเมื่อสองปีก่อน
เถ้าแก่น้อย6    เถ้าแก่น้อย11
แต่สำหรับบางท่านที่ยังไม่รู้จัก หรือแค่เคยได้ยินเรื่องราวมาบ้างอย่างไม่ละเอียดนักก็ไม่เป็นไรนะครับ เพราะบล็อก “ไอดอลแมน” วันนี้เป็นคิวของ “เถ้าแก่น้อย”ที่จะมาทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณผู้อ่าน ด้วยเรื่องราวชีวิตบนเส้นทางธุรกิจที่สามารถพลิกชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้ภายในเวลาเพียงสามปี!!!!!

เถ้าแก่น้อย12
นั่นแหล่ะคือเขาหล่ะ….ต๊อบ อิทธิพัทธ์  กุลพงษ์วนิชย์ เจ้าของแบรนด์และสมญานาม “เถ้าแก่น้อย”

คุณต๊อบ-อิทธิพัทธ์ ( หรือชื่อเดิมคือ ต่อพงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2527 เป็นลูกชายสุดที่รักของคุณวรเศรษฐ์ กุลพงษ์วนิชย์ นักธุรกิจรับเหมา ซึ่งเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้ลูกชายคนนี้กลายเป็น “เถ้าแก่น้อย”ในเวลาต่อมา

เมื่อดูจากเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นวัยเรียนของคุณต๊อบแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จได้มากมายขนาดนี้ เพราะเรื่องเรียนของเขาไม่ได้ดีเด่นอะไรนัก เมื่อจบประถมจากโรงเรียนปานะพันธ์วิทยา เข้าเรียนต่อ ม.ต้นที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เมืองทองธานี จบมาด้วยเกรดต่ำจนไม่อาจเข้าเรียนที่เดิมได้  ทั้งๆที่คุณพ่อคุณแม่พยายามเต็มที่ที่จะให้ลูกได้เรียนต่อ ถึงกับยอมทุ่มเงินหลักแสน ทำให้คุณต๊อบรู้สึกสะท้อนใจ ด้วยความสงสารไม่อยากให้ท่านทั้งสองต้องสูญเสียเงินมากมายขนาดนั้นจึงตัดสินใจบอกว่าจะขอย้ายมาเรียน ม.ปลายสายศิลป์- ทั้วไปที่โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี ซึ่งพี่สาวของเขาเคยเรียนอยู่

เมื่อมาเรียนที่สวนกุหลาบฯ ผลการเรียนของต๊อบก็ไม่ได้ดีขึ้น เจ้าตัวสารภาพเองว่า เพราะเขาติดเกมออนไลน์อย่างหนัก แต่การติดเกมออนไลน์ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเด็กหนุ่มคนนี้ตกต่ำไปเสียทีเดียว เพราะดูเหมือนว่าเขาจะมีพรสวรรค์ในการเล่นเกมจนได้คะแนนสะสมสูง จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการเกมออนไลน์ โดยเฉพาะเกม Everquest ซึ่งเล่นมาตั้งแต่ ม.4  และได้ชื่อว่าเป็นผู้สะสมแต้มที่รวยที่สุดในเซิร์ฟเวอร์ แถมยังสะสมไอเท็มเด็ดๆและของสะสมหายากจากเกมไว้ได้มากมาย ถึงขนาดที่เอาออกขายหารายได้สูงงสุดหลักแสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว


EverQuestเกี่ยวกับการเล่นเกม Everquest จนเป็นจุดเริ่มต้นการทำรายได้หลักแสนบาทนี้ มาจากการที่พี่ชายของต๊อบคือ ณัชชัชพงศ์ กุลพงษ์วณิชย์ ได้อ่านเจอเรื่องราวจากในหนังสือว่า มีคนอเมริกันขายของในเกมนี้จนร่ำรวย ต๊อบจึงลองหามาเล่นดูบ้าง แม้จะมีอุปสรรคเรื่องภาษาที่ใช้ในเกม เขาก็ยังอุตส่าห์เอา Dictionary มานั่งเปิดแปลไปด้วยในระหว่างเล่น เมื่อเล่นไปจนได้แต้มและของสะสมในเกมจำนวนหนึ่ง วันหนึ่งก็มีเพื่อน ( ในเกม) ชาวสิงค์โปร์มาขอดูแต้มและของสะสม ก่อนจะแนะนำว่า ของสะสมบางอย่างของเขาหายากและเป็นที่ต้องการในตลาดเกม จึงรับอาสาเป็นนายหน้าเอาไปขายให้ ต่อมาต๊อบก็เป็นผู้ขายเอง รายได้จากการขายนี้ทำให้เขาดาวน์รถฮอนด้า ซิตี้ได้คันหนึ่งเลยทีเดียว

ด้วยความที่ต๊อบทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้เกมเกือบหมด เรื่องเรียนจึงผ่านมาอย่างทุลักทุเล เรียนจบ ม.6 เขาสอบเอนทรานซ์ไม่ติด เป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องทะเลาะกัน แต่เขาก็รับผิดชอบตัวเองด้วยการสอบเข้าเรียน ม.เอกชน คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารการตลาด
ในปีที่ต๊อบเจ้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น ตรงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ( พ.ศ.2540) ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางครอบครัว ยิ่งเมื่อธุรกิจรับเหมาของคุณพ่อถูกโกง ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้สำเร็จตามสัญญา ถูกปรับวันละ 80,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 30 ล้าน ต๊อบจึงต้องพยายามหารายได้ช่วยเหลือตัวเองและทางบ้าน ทว่ากิจการขายของจากเกมออนไลน์เริ่มซบเซา เนื่องจากความนิยมเกมออนไลน์ลดลง ต๊อบจึงหันมาจับธุรกิจอื่น เริ่มจากการขายเครื่องเล่นดีวีดีจีนแดง เพราะเห็นว่าต้นทุนราคาถูก ( แค่เครื่องละ 800) และสามารถขายได้เรื่อยๆ

แต่แล้วธุรกิจดังกล่าวกลับทำให้เด็กหนุ่มวัย 18 ปีพบกับความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า!!

ก็อย่างที่ทราบกันแหล่ะนะครับว่า สินค้าจีนแดงนั้นคุณภาพต่ำพอกับราคา เมื่อต๊อบซื้อดีวีดีจีนแดงมาขายต่อ ลูกค้าซื้อไปใช้ไม่นานก็พัง จนต๊อบต้องตระเวนไปรับคืนพร้อมคำต่อว่าจากลูกค้า หนักเขาถึงขั้นจะฟ้องร้องกันเลยทีเดียว ผมยังจำฉากในหนัง “วัยรุ่นพันล้าน”ที่จำลองเหตุการณ์ช่วงนี้ได้ ต๊อบรับสินค้าคืน แล้วจะกลับไปโวยกับพ่อค้าขายส่ง และกลับถูกตอกหน้ากลับมาว่า เป็นความ “โง่” ของเขาเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสังคมธุรกิจไม่ว่าระดับใด โอกาสที่จะก้าวพลาดมีสูงถ้ารู้ไม่เท่าทัน

แต่ถึงจะล้มเหลวในการขายเครื่องเล่นดีวีดี แต่ต๊อบก็ไม่ย่อท้อที่จะมองหาลู่ทางในการทำธุรกิจอื่นต่อไป

วันหนึ่งระหว่างนั่งรับประทานอาหารกับคุณพ่อ ต๊อบได้ขอคำแนะนำในการหาลู่ทางธุรกิจ และได้แนวคิดจากท่านว่า ธุรกิจอาหารน่าสนใจ ในเวลาต่อมาเขาได้ไปเดินดูงาน เวิลด์ ฟู้ด เอ็กซิบิชั่น ที่จัดนิทรรศการด้านธุรกิจอาหารที่เมืองทองธานี  และสะดุดใจกับเครื่องคั่วเกาลัดอัตโนมัติจากญี่ปุ่นที่นำมาแสดงในงาน ประกายความคิดในการทำธุรกิจขายเกาลัดบังเกิดขึ้น เขาอยากได้เครื่องคั่วเกาลัด แต่ติดขัดที่มันมีราคาสูงเนื่องจากเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ แม้จะต่อรองราคาอย่างไรทางผู้ขายก็ไม่อาจตกลงได้ แต่เมื่อเห็นลูกตื้อของต๊อบที่เทียวมาทุกวัน ทางผู้ขายจึงยื่นข้อเสนอให้ต๊อบซื้อแบบผ่อนชำระได้เดือนละ 50,000 บาท ต๊อบตกลงทันที แม้ว่าเมื่อเช่าเครื่องมาไว้ที่บ้านแล้วจะถูกพ่อทักท้วงว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะเครื่องคั่วเกาลัดที่วางขายที่กล้วยน้ำไทราคาแค่ 3 – 4 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ต๊อบก็ยังคงยืนยันเดินหน้าลุยธุรกิจขายเกาลัดตามที่ตั้งใจไว้


เถ้าแก่น้อย9
ด้วยความที่ยังขาดประสบการณ์ ต๊อบจึงอาศัยวิชาครูพักลักจำ ไปเดินสำรวจวิธีการและเทคนิคในการคั่วเกาลัดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าย่านเยาวราช ได้วิชามาพอตัว จึงเริ่มธุรกิจ โดยขอเช่าสถานที่ขาย ที่ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ รามคำแหง ( และต่อมาก็ขยายไปที่บิ๊กซี บางใหญ่)

ในระหว่างที่ต๊อบกำลังเตรียมตัวจะออกไปเริ่มต้นธุรกิจคั่วเกาลัดนั้น ได้ยินเสียงพ่อกระเซ้าว่า ลูกชายของพ่อกำลังจะเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว เขาจึงจดจำคำพูดประโยคนั้น มาเป็นที่มาของการตั้งชื่อแบรนด์สินค้า เกาลัดตรา “เถ้าแก่น้อย”
( ติดตาม ตอนต่อไป)

12 พฤษภาคม 2556

“ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” อัจฉริยะผู้หยั่งรู้จากภายใน ตอนที่ ๒


หลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทยภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจร่วมคิดค้นระบบการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารของยานอวกาศกับองค์การนาซ่า ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ยังคงเดินหน้าเรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่อสังคมในบทบาทต่างๆ

เริ่มต้นตั้งแต่การเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ทั้งจากที่มีอยู่เดิม และจากการไปร่วมงานกับองค์การนาซ่า

หลังจากเป็นอาจารย์ได้ประมาณ 7 ปี ดร.อาจอง ก็เกิดความคิดว่า อยากขยายขอบเขตประสบการณ์ของตนเองให้มากขึ้น ด้วยการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ท่านจึงลาออกมาประกอบธุรกิจ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหลายบริษัท


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา (8) เมื่อเริ่มเข้าใจชีวิตนักธุรกิจ ท่านก็เปลี่ยนไปชิมลางทางการเมือง ด้วยการลงสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคพลังธรรม  ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.อยู่ 3 – 4 สมัย และได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่ กรรมาธิการการศึกษา กรรมาธิการวิทยาศาสตร์ กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และตำแหน่งสูงสุดที่ได้รับ คือ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ในขณะนั้น

แม้จะผ่านทั้งชีวิตการเป็นนักธุรกิจและนักการเมือง รวมไปถึงนักเขียนและนักแสดง แต่บทบาทที่โดดเด่นที่สุดของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เห็นจะเป็นด้านการศึกษา ด้วยความที่ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะของโลกคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามีรากฐานมาจากความสำเร็จด้านการศึกษาเรียนรู้ ทว่าตัวท่านเองกลับให้แนวคิดว่า การเรียนรู้จากภายนอก คือ จากสถาบันการศึกษา หรือแหล่งค้นคว้าต่างๆนั้น ยังไม่สำคัญและก่อให้เกิดผลได้เท่ากับ การเรียนรู้จากภายใน คือ การเรียนรู้โดยเริ่มจากรู้จักตัวเอง
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา
หากใครได้เคยติดตามผลงานหรือฟังการบรรยายของ ดร.อาจอง ก็คงจะทราบถึงแนวคิดสำคัญของท่านว่า ดร.อาจองให้ความสำคัญกับการทำสมาธิมาก โดยท่านมักจะเล่าถึงประสบการณ์ของท่านเองว่า ในสมัยเด็กๆ ช่วงที่ท่านไปเรียนอยู่ที่ลอนดอน ท่านเป็นเด็กเกเรคนหนึ่ง ที่ชอบก่อเรื่องวิวาทไปทั่ว แล้วมาวันหนึ่งเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างดลใจให้ท่านฉุกคิดได้ว่า ตนเองกำลังทำตัวเหลวไหล ไร้สาระอยู่ จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ท่านหาสิ่งที่ดีมีคุณค่าแก่ชีวิต จนได้เรียนรู้การทำสมาธิตามวิถีพุทธจากหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน ในขณะที่มีอายุ 15 ปี และได้ฝึกสมาธิตั้งแต่นั้นมา

อานิสงส์จากการปฏิบัติ ทำให้ชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งเปลี่ยนไปในทางบวกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มจากอารมณ์ที่เย็นลง จิตใจที่สงบนิ่ง ผ่อนคลาย มีพลัง ส่งผลถึงการเรียนดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ คือ จากที่เคยสอบได้ที่โหล่ กลับกลายมาเป็นสอบได้ที่ 1 ตลอด จนได้รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทั้งๆที่ตัวท่านเองก็บอกว่า ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเรียนหนักหนาอะไร เพียงแค่อานุภาพจากการทำสมาธิทำให้ความจำดีขึ้นเท่านั้น

ดร.อาจองยังได้ยกตัวอย่างบุคคลสำคัญในอดีตที่อาศัยพลังแห่งสมาธินำพาให้ประสบความสำเร็จ เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน ที่ใช้เวลาว่างนั่งสงบนิ่งใต้ต้นแอปเปิ้ล จนจิตเกิดสมาธิ และเกิดแนวคิดในการค้นหาข้อเท็จเกี่ยวกับนำ้หนักของวัตถุจนค้นพบแรงโน้มถ่วง หรืออัลเบิร์ต ไอสไตน์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “การหยั่งรู้ด้วยตัวเองไม่ได้มาจากการศึกษา ไม่ได้มาจากความพยายาม แต่มันมาจากใจโดยตรง ถ้าเราเข้าถึงใจของเราได้ สมาธิก็จะเกิด ปัญญาก็เกิดขึ้น”

แม้แต่ตัวท่านเองก็ยังเคยใช้วิธีการทำสมาธิเป็นตัวช่วยในระหว่างการคิดค้นวิธีการควบคุมยานไวกิ้งขององค์การนาซ่าเพื่อลงจอดบนดาวอังคาร ( ตามที่ผมเคยเล่าไว้ในตอนที่แล้ว) จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม ดร.อาจอง จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการ “หยั่งรู้ด้วยตัวเอง” โดยเน้นที่การทำสมาธิเป็นอันดับแรก เห็นได้จากแนวคิดที่นำเสนอผ่านสื่อ หรือการบรรยายต่างๆ เช่น

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา
“…..ผมมุ่งไปที่จิตใจของมนุษย์มากกว่า ต้องการให้คนค้นพบสิ่งที่สงบสุขอยู่ในตัวเองมากกว่า เพราะเราไม่สามารถค้นพบจากวิทยาศาสตร์ หรือโลกภายนอกได้เลย….”

“….พอเราฝึกสมาธิ ความรู้สึกของเรามันจะขยายตัวออกไปกว้างใหญ่ พอเป็นอย่างนี้เท่ากับว่ามันขยายไปที่ไหนเราก็รู้ตรงนั้น ถ้าเราอยากจะรู้ว่าข้างหนึ่งของโลกเรากำลังเกิดอะไรขึ้น เรานั้งสมาธิขยายความรู้สึกของเราออกไป มันเป็นจิตใจที่เราขยายออกไปให้ได้ แล้วจะรู้เรื่องอะไรก็ได้….

“…..เราต้องรู้จักตัวเองให้มากขึ้น แล้วเราจะรู้ว่ามีสิ่งที่ดีมากมายในตัวเราที่ยังไม่เคยใช้ เราใช้สมองไม่ถึง 10% เราต้องรู้จักใช้สมองของเราอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเราไม่รู้จักตัวเอง เราไม่รู้จักคนอื่น เราจึงเข้ากับคนอื่นไม่ค่อยเป็น เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงต้องเริ่มจากตัวเรา การศึกษาต้องช่วยให้เด็กรู้จักตัวเอง การฝึกสมาธิจะช่วยให้รู้จักตัวเอง เพราะเป็นการเข้าไปสู้ใจของตัวเอง ช่วยให้ความจำดีขึ้น การเรียนการศึกษาดีขึ้น….”
ดร.อาจอง กับเด็กๆ
ด้วยแนวคิดต่างๆเหล่านี้ เมื่อท่านได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง ด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส ที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งท่านได้แนวคิดและแรงบันดาลมาจาก ท่านสัตยาไสบาบา นักการศึกษาชาวอินเดีย ที่ท่านเคยได้พบเมื่อคราวไปศึกษาดูงานที่นั่น ประกอบกับท่านเองก็มีแนวคิดจะมุ่งเน้นการ “สร้างคน” อยู่แล้ว นักเรียนในโรงเรียนสัตยาไสของท่านจึงได้รับการปลูกฝังด้วยการมุ่งเน้นกระบวนการ “รู้จักตัวเอง” เป็นอันดับแรก ด้วยความมุ่งหวังของท่านที่จะสร้างสรรค์บุคคลากรรุ่นใหม่ของประเทศให้มีคุณภาพ เป็นคนดีก่อนคนเก่ง ตามแนวคิดที่ว่า “….เมื่อเป็นคนดีแล้วจะเก่งได้เอง แต่การเป็นคนเก่ง ยากที่จะเป็นคนดี…”


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา (5)นอกจากบทบาทด้านการศึกษาแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยาที่ดูจะโดดเด่นไม่แพ้กัน คือภาพของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆของโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆตามสื่ออยู่หลายครั้ง เช่น การเตือนภัยเกี่ยวกับพายุสุริยะ การให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย เป็นต้น แม้ว่าบางครั้ง การออกมาเตือนของท่านจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือความไม่พอใจของคนบางกลุ่ม ในทำนองว่าก่อให้เกิดความตื่นกลัวเกินเหตุ แต่คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจในเจตนาของท่าน  และท่านก็ยังคงเป็น “ผู้หยั่งรู้” ที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอด

การ “หยั่งรู้”ของอัจฉริยะท่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหยั่งรู้จากภายในหรือภายนอก แต่ท่านก็ได้หยั่งรู้นั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติมาแล้ว จึงสมแล้วที่เส้นทางอัจฉริยะของท่านจะได้รับการขนานนามว่า “อัจฉริยะสีขาว”
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา (6)

“ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” อัจฉริยะผู้หยั่งรู้จากภายใน

ในบรรดาสุดยอดอัจฉริยะเมืองไทย ผู้มีชื่อเสียงขจรไกลจนได้รับการยอมรับในระดับโลก คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” คือหนึ่งในนั้น

ดร.อาจอง กับโครงการนำยายอวกาศลงดาวอังคาร
จากผลงานที่ได้ร่วมโครงการคิดค้นและออกแบบอุปกรณ์ควบคุมยานอวกาศขององค์การนาซ่า ให้ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างนุ่มนวลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นประจักษ์พยานสำคัญถึงว่า คนไทยตัวเล็กๆคนหนึ่งก็มีความเป็นอัจฉริยะไม่น้อยหน้าฝรั่งมั่งค่าเหมือนกัน

แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือ ความเป็นอัจฉริยะของบุคคลท่านนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากภายใน ด้วยวิถีแห่งศาสนา นั่นคือ การใช้ปัญญาที่เกิดจากดวงจิตที่สงบนิ่ง มีสมาธิ กลายเป็นพลังสู่การค้นพบ หาใช่เพียงแค่การก้มหน้าก้มตาค้นคว้าวิจัยตามสไตล์นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกแต่อย่างเดียวไม่

และด้วยความเป็นปราชญ์ที่ออกมาจากข้างในนี้เอง ทำให้เส้นทางอัจฉริยะของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้รับการขนานนามว่า เป็น “อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว”

อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว
ประวัติโดยสังเขปของท่าน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 เดิมชื่อ องอาจ หรือ “เอ๊ะ” เป็นบุตรคนกลางของพลตรี มล.มานิตย์ และคุณหญิงเฉลิมขวัญ ชุมสาย ณ อยุธยา

เด็กชายองอาจ ( ชื่อในขณะนั้น) เริ่มศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนอนุบาลละออกอุทิศ โรงเรียนเซนต์ฟรังต์ซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนเซนคาเบรียล จนจบชั้น ป.4  จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แต่เรียนได้แค่ครึ่งปีก็ต้องย้ายตามคุณพ่อไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เรียนต่อจนอายุ 12 ปีก็ย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษ ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโท ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ( Mechanical science ) จากมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ และปริญญาเอก  วิศวกรรมไฟฟ้า สาขาสื่อสารโทรคมนาคม จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ พ.ศ.2509

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ.2533 ได้ลาอุปสมบทอยู่พักหนึ่ง

เมื่อลาสิกขาบทออกมา ท่านเกิดความคิดว่า โลกหมุนไปเร็วเหลือเกิน วิทยาการใหม่ก็ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หากท่านจะใช้แต่ความรู้เก่าที่มีอยู่สอนนักศึกษาก็คงทำประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ท่านจึงขอไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับหางานทำไปด้วย โดยได้เข้าทำงานกับบริษัท Micromega ในลอสแองเจอริส เป็นฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ไมโครเวฟ ตามความถนัดที่ท่าเคยมีผลงานวิจัยด้านนี้มาแล้วเมื่อครั้งเรียนปริญญาเอก
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา
และด้วยความรู้ความสามารถนี้เอง ส่งผลให้ท่านได้กลายเป็นอัจฉริยะเมืองไทยที่ก้าวไกลสู่ระดับโลก เมื่อองค์การนาซ่าได้ประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมทำงานในโครงการส่งยานอวกาศ “ไวกิ้ง” ไปสำรวจดาวอังคาร ดร.อาจองได้เขียนโครงการเสนอตัวเข้าไปในนามบริษัท แต่ถูกปฏิเสธเพราะอุปสรรคด้านเชื้อชาติสัญชาติ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นความลับทางเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาเกรงว่าจะรั่วไหลไปสู่ประเทศคู่แข่งอย่างประเทศรัสเซียในขณะนั้น

แต่ ดร.อาจองก็ไม่ลดละความพยายาม จากการศึกษากฏหมายของสหรัฐฯ ทราบว่ามีช่องโหว่ที่อนุญาตให้คนต่างชาติร่วมงานได้ในกรณีที่ขาดแคลนผู้รู้สัญชาติสหรัฐฯ  ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐฯก็ยังไม่มีผู้ที่จะคิดค้นระบบการนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้ ท่านจึงส่งประวัติและโครงการเข้าไปใหม่อีกครั้ง คราวนี้นาซ่าส่งข้อมูลของท่านให้หน่วยข่าวกรองอย่าง FBI และ CIA ตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ตอบรับให้ท่านเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่น่าสนใจในการร่วมทำงานในโครงการนี้ของ ดร.อาจอง ก็คือ ในขณะที่ผู้ร่วมโครงการช่วยกันค้นหาวิธีนำยานไวกิ้งลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างนุ่มนวล เพื่อไม่ให้เกิดการแระแทกจนยานเสียหายและไม่อาจส่งข้อมูลกลับมาได้เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตนั้น  บริษัทที่รับการว่าจ้างดำเนินการจากนาซ่า คือ บริษัท Martin Marrietta นั้น ใช้วิธีการให้มีการสร้างต้นแบบ (Prototype) ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ก่อนจะมีการทดสอบด้วยเครื่องทดลองเสมือนจริง (เครื่อง Simulation) เพื่อจำลองการร่อนลงของยาน ซึ่งมีการดัดแปลงแก้ไขใหม่อยู่หลายรอบ แต่ผ่านไปเป็นปีก็ยังไม่สำเร็จ จนทุกคนในโครงการพากันเครียดไปตามๆกัน

ทว่า ดร.อาจอง กลับพลิกแนวคิด โดยมองว่า วิธีการแบบอเมริกัน คือ คิดค้นและทดลองภายใต้ความกดดันนั้นคงไม่ได้ผล ท่านจึงเปลี่ยนมาใช้แนวทางตามวิถีพุทธ คือ การปลีกตัวไปทำสมาธิบนยอดเขา Big Bear ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปล่อยวางจิตใจให้สงบ ก็เกิดปัญญาหยั่งรู้ขึ้นมาในเช้าวันที่ 5 ของการทำสมาธิ นั่นคือการค้นพบวิธีการใช้คลื่นไมโครเวฟควบคุมการร่อนลงจอดของยาน ซึ่งเมื่อนำเอามาทดลอง ปรากฏว่าได้ผล สามารถควบคุมยานจำลองให้ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล สร้างความตื่นเต้นและมหัศจรรย์ใจให้กับเพื่อนร่วมงานชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการคิดค้น ดร.อาจองก็ไม่ได้อยู่รอดูความสำเร็จของโครงการ เพราะท่านได้รีบเดินทางกลับมาสอนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามเดิม ฝากไว้แค่ชื่อเสียงของคนไทยให้องค์การนาซ่าได้จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
( โปรดติดตามตอนต่อไป)

8 พฤษภาคม 2556

เส้นทางชีวิต “ดังตฤณ” จากเด็กหนุ่มผู้มืดมนสับสน จนเป็นนักเขียนผู้ใช้ธรรมะนำคนสู่ทางสว่าง

เจ้าของนามปากกา “ดังตฤณ” มีชื่อจริงว่า ศรัณย์  ไมตรีเวช ชื่อเล่นที่เรียกกันในบรรดาคนใกล้ชิดสนิทสนมคือ “ตุลย์” 

กำเนิดของนักเขียนท่านนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลละเอียด เจ้าของประวัติเคยบอกแค่ปีเกิด คือ    พ.ศ.2510 เท่านั้น  เป็นลูกคนที่สามของครอบครัว

การศึกษา จบปริญาตรีคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ( Business Computer ) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน

การทำงาน เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่ บริษัท ซอฟท์แวร์เฮาส์ “ไอโซแฟกส์” ก่อนจะเริ่มเข้าสุ่เส้นทางนักเขียน ( จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป)

 

ชีวิตครอบครัว สมรสกับแพทย์หญิงณัฐชญา  บุญมานันท์ แพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดังตฤณ

เส้นทางธรรมะ : ศรันย์ ไมตรีเวช เกิดและเจริญเติบโตมาแบบเด็กทั่วไป ไม่มีวี่แววจะสนใจธรรมะมาก่อน จนกระทั่งเมื่ออยู่ ม.5 ความรู้สึกหนึ่งที่เป็นเสมือน “ฑูตแห่งธรรม” ก็บังเกิดขึ้นในใจเด็กหนุ่ม นั่นคือ ความรู้สึกที่ต้องการแสวงหาคุณค่าของชีวิต เมื่อเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ชีวิตที่เหลือยู่ จะอยู่เพื่ออะไร ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวก่อตัวมาจากความสับสนในตอนนั้น เช่นเดียวกับเด็กวัยเดียวกันหลายๆคน ที่กำลังค้นหาว่า จะเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหน คณะอะไร แต่ศรันย์คิดไปไกลกว่า ว่าเรียนจบมาแล้วจะทำอะไร และจะใช้ชีวิตต่อไปในแนวไหน

ในเมื่อยังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ จนความสับสนเริ่มกลายเป็นความเบื่อ ศรัณย์จึงหาตัวช่วย ด้วยการเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือ ด้วยคิดว่า อยากจะหามุมมองหรือแนวคิดที่แปลกใหม่กว่าเดิมมาเติมช่องที่ว่างอยู่ และนั่นเองที่ทำให้เขาพบกับ “เต๋าที่เล่าแจ้ง” หนังสือแนวปรัชญาเชิงศาสนา แปลโดย พจนา จันทรสันติ ที่ศรัณย์บอกว่า อ่านแล้วทำให้รู้สึกชุ่มชื่นขึ้นมา แม้จะยังไม่ทำให้ค้นพบคำตอบของชีวิตที่ตั้งไว้ แต่ก็เหมือนว่าได้ชาร์จแบตให้หัวใจ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหันมาสนใจการศึกษาด้านจิตวิญญาณอย่างจริงจัง

ในระหว่างนั้น ศรัณย์ได้มีโอกาสฝึกทำสมาธิ ทั้งแบบโยคะ และในแบบธรรมสมาธิหรือที่เรียกว่า TM ซึ่งเป็นแนวการฝึกแบบอินเดีย โดยการท่องคำบริกรรมเพื่อรวบรวมจิตเป็นสมาธิ ( ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า เป็น สมถะภาวนา) ซึ่งก็ได้เห็นผลจากการฝึกดีพอสมควร แต่ศรัณย์ก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้

ในปีต่อมา เมื่อศรัณย์อยู่ ม.6 เขาเกิดความคิดว่า อยากจะลองฝึกวิปัสสนา ตามที่เขาเคยได้ยินมาว่า เป็นวิธีการนำสู่ความสุขขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เขาจึงเสาะหาหนังสือสอนปฏิบัติด้านนี้มาเป็น “ครู” จนกระทั่งได้หนังสือ “วิธีทำสมาธิวิปัสสนา” ของ “ธรรมรักษา” ซึ่งเมื่อเขาได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็พบว่าตรงกับแนวทางสิ่งที่เขาค้นหา จนศรัณย์ยกย่องว่า “ ธรรมรักษา” เป็นครูคนแรกในชาตินี้ของเขาเลยทีเดียว

เมื่อศรัณย์ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน ศรัณย์ก็ยังคงเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือแนวธรรมะอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือที่เขาโปรดปรานมากที่สุดคือ “พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน”

ดังตฤณตอนบวช

และในปีที่เขาอายุครบบวช ศรัณย์ได้หยุดพักการเรียนมาอุปสมบท และไปปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ 1 – 2 เดือน แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลย และนั่นก็เป็นเสมือนเสบียงที่เขาเก็บสะสมไว้ จนสามารถแปลงเป็นทุนแห่งปัญญา นำมาถ่ายทอดในรูปแบบของหนังสือธรรมะที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในขณะนี้

 

เส้นทางนักเขียน  :  เด็กชายศรันย์ มีอุปนิสัยอยู่อย่างหนึ่งที่เอื้อต่อการเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก คือ มีแรงบันดาลในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ตัวเองได้พบ ได้เห็น ได้รู้ หรือแม้กระทั่งได้คิด ให้คนอื่นรู้ด้วย เจ้าตัวเล่าว่า เคยเขียนนิยายอ่านเล่นแจกจ่ายเพื่อนๆอ่านมาตั้งแต่เรียนประถม แม้จะเป็นนิยายแนวน้ำเน่า ประโลมโลก แต่ก็ได้รับความสนใจถึงขึ้นเพื่อนจองคิวยืมอ่าน นั่นคือภาพความสุขอย่างหนึ่งของเขา และกลายเป็นพื้นฐานนิสัยของการเป็น “ผู้ถ่ายทอด”

ต่อมาเมื่อเขาหันมาสนใจธรรมะ งานเขียนของเขาก็เริ่มมีธรรมะเข้ามาแทรกซึมอยู่ด้วย กลายเป็นนวนิยายแนวธรรมะ โดยเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ คือ เรื่อง ทางนฤพาน ตีพิมพ์ในนิตยสารพ้นโลก เมื่อปี 2533 ว่ากันว่าได้รับความนิยมมาก และคนอ่านส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้เขียนเป็นผู้ทรงภูมิธรรมที่อายุมากแล้ว ทั้งๆที่ตอนนั้นศรัณย์เพิ่งอายุ 22 ปีเท่านั้น 

ดังตฤณ ๒

หลังจากที่เรียนจบ และเข้าทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ดีไซน์ซอฟต์แวร์ ศรัณย์ก็ได้ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์  เขียนบทความลงหนังสือ “ไมโครคอมพิวเตอร์” ไปด้วย ก่อนจะลาออกจากงานมาเขียนบทความอย่างเดียว โดยได้รับค่าตอบแทนจากสำนักพิมพ์เดือนละ 5,000 บาท ( ค่าเงินในขณะนั้น ) และอีก 2-3 ปีต่อมา ก็มีผลงานเขียนเป็นรูปเล่ม อาทิเช่น ครบเครื่องเรื่องอินเตอร์เน็ต  กะเทาะเปลือกไอซีคิว เป็นต้น โดยใช้ชื่อจริงเขียนทั้งหมด และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ฟรีมาตลอด จนกระทั่งรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะคิดว่าเป็นการส่งเสริมให้คนอ่านใช้ซอฟแวร์เถื่อน จึงเลิกเขียน

 

ดังตฤณ

สำหรับจุดเริ่มต้นของนามปากกา ดังตฤณ ที่กลายมาเป็นชื่อที่โด่งดังทุกวันนี้นั้น เจ้าตัวบอกว่า เป็นชื่อของตัวละครในนวนิยายที่เคยเขียนเล่นๆให้คนใกล้ชิดอ่านสมัยเด็กๆ แต่ไม่ได้เผยแพร่ เมื่อมาเขียนนวนิยายธรรมะเมื่อ พ.ศ.2534 จึงนำหยิบเอาชื่อนี้มาใช้เป็นนามปากกา และใช้เป็นนามแฝงในโลกอินเตอร์เน็ตด้วย เพียงเพราะว่า มันทำให้รู้สึกว่า เป็นชื่อสมมติที่ไม่ใช่ตัวเอง  เท่านั้นเอง

“ตฤณ แปลว่า หญ้า ดังตฤณ = เหมือนหญ้า หรือเสมอกับหญ้าสักต้นหนึ่ง” เจ้าของชื่ออธิบายความหมาย และเคยออกตัวไว้ว่า “….ตั้งชื่อ ตั้งนามปากกาว่า ดังตฤณ น่าจะอ่อนน้อมถ่อมตนอะไร จริงๆแล้วก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น ไม่ได้ด้วยความตั้งใจขนาดนั้น…… ถ้าเป็นตัวผมเอง จริงๆแล้วผมก็มองว่า ไม่ได้สูง ไม่ได้ต่ำ นะครับ……

 

หนังสือ ทางนฤพาน โดย ดังตฤณ

ย้อนกล่าวถึงนิยายธรรมะเรื่องแรก คือ ทางนฤพาน ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2533 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีนั้น ในอีก 7 ปีต่อมา เพื่อนๆของ “ดังตฤณ” ก็ได้ลงขันกันพิมพ์เป็นรูปเล่มพ็อกเกตบุ๊ค ทั้งขายทั้งแจก ในราคาเล่มละ 99 บาท ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 2 เดือน

 

ผลงานชิ้นอื่นๆหลังจากทางนฤพาน จากปลายปากกา ( หรือคีย์บอร์ด?) ของดังตฤณ ไม่ว่าจะเป็น เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน  กรรมพยากรณ์  เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว  รักแท้มีจริง   มีชีวิตที่คิดไม่ถึง และ ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นงานเขียนแนวธรรมะสมัยใหม่ ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ได้แนวคิด ให้ความรู้สึกดีๆ ที่อ่านแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งทุกวันนี้ยังหาอ่านได้อยู่ เพราะผลงานเกือบทุกชิ้นเผยแพร่ฟรีบนโลกอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของ E – Book และแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเลต หรือถ้าใครที่ยังหลงใหลการอ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม ก็มีการรวมเล่มให้หาอ่านกันได้ตามร้านหนังสือ

 

BhWq20071215151738webboard-reply83681

 

นอกจากนี้ ผลงานของ “ดังตฤณ” ยังได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของมัลติมิเดียอื่นๆ เช่น หนังสือเสียง คลิปวิดิโอบน Youtube  การตอบปัญหาธรรมผ่านคลื่นวิทยุออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกุศโลบายในการเผยแพร่ธรรมให้เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา ทุกโอกาสได้มากขึ้น

ใครจะคิดว่า จากความสับสน มืดมน และความไม่เข้าใจในชีวิตที่เกิดกับเด็กหนุ่ม “ศรัณย์” ในวันนั้น จะกลายเป็นเส้นทางก่อกำเนิด “ดังตฤณ” นักเขียนผู้สามารถนำเอาหลักธรรมของพระพุทธองค์มาถ่ายทอดสู่คนยุคใหม่ที่อาจจะกำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่ศรัณย์เคยเผชิญมาก่อน จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยพบแสงสว่างได้ ต้องขอบคุณเส้นทางมหัศจรรย์เส้นนี้จริงๆ

 

ดังตฤณ นักเขียนผู้สร้างปาฏิหาริย์แห่งการเทศนาในยุคอินเตอร์เน็ต


374300_10151365007297870_1044063499_n
ผมเชื่อว่า คนที่สนใจอ่านหนังสือแนวธรรมะสมัยใหม่ หรือธรรมะประยุกต์ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ดังตฤณ” นักเขียนผู้อยู่ในสถานภาพ “คฤหัสถ์” แต่ทว่าสามารถหยิบเอาหลักธรรมของพระพุทธองค์มานำเสนอในสำนวนภาษาสมัยใหม่ ดึงผู้อ่าน ( และผู้ฟัง) ร่วมสมัยให้เข้าถึงหลักความจริงอันประเสริฐที่ถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีก่อนได้อย่างกระจ่างแจ้ง ราวกับการแสดงปาฏิหาริย์แห่งการเทศนาของพระอริยบุคคลในอดีตก็ไม่ปาน

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของนักเขียนผู้นี้ และมีหลายแนวคิดที่ได้รับจากท่าน เป็นพลังแห่งถ้อยคำที่กระตุกให้ฉุกคิด จนกลายเป็นพลังในการพัฒนาตนเอง เพื่อยกระดับชีวิตและจิตใจให้สูงขึ้นมาได้

 ย้อนหลังไปเมื่อหลายปีก่อน ผมเห็นนามปากกา “ดังตฤณ” ครั้งแรกบนหน้าปกหนังสือนวนิยายเรื่องหนึ่งของสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม สะดุดตากับชื่อที่ไม่รู้ว่าจะอ่านออกเสียงและมีความหมายอย่างไร แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะถึงแม้จะชอบอ่านนวนิยาย แต่ก็จะเลือกอ่านเฉพาะแนวของนักเขียนที่ชอบและคุ้นเคยมากกว่า

 จนหลายปีต่อมา ผมได้เห็นนามปากกานี้อีกครั้ง ทว่าคราวนี้ประดับอยู่บนปกหนังสือแนวธรรมะ ซึ่งดูติดอันดับขายดีในขณะนั้น คือ “ เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน ” “เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว ” “มีชีวิตที่คิดไม่ถึง” และอีกหลายเล่ม จนเริ่มรู้สึกคุ้นเคยและชักจะสนใจผลงานของนักเขียนท่านนี้ขึ้นมา
BhWq20071215151738_thumb[2] webboard-reply83681_thumb[2][4] 1348469748_thumb[1]

ยอมรับว่า ตอนแรกๆ ก็คิดแค่ว่า “ดังตฤณ” คงแค่เปลี่ยนแนวเขียนจากนวนิยายบันเทิง มาเป็นแนวธรรมะ มีสาระเชิงวิชาการ แต่เมื่อได้ติดตามอ่านผลงาน ทั้งที่เป็นหนังสือ และการนำเสนอผ่านสื่อมัลติมิเดียอื่นๆ ซึ่งบ่งบอกความแตกฉานในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนสามารถนำมาแตกประเด็น ถ่ายทอดสู่ผู้อ่านและผู้ฟังด้วยสำนวนภาษาร่วมสมัยในสไตล์ของตัวเอง มิใช่สักแต่หยิบยกพุทธพจน์มาอ้างทั้งท่อน ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เป็นว่า นักเขียนท่านนี้ไม่ได้ “เปลี่ยนแนว” อย่างที่เข้าใจตอนแรก หากแต่ “ธรรมะ” นั้นคือ “แนว”ของท่านมาตั้งแต่ต้น

0 ยิ่งเมื่อได้ลองค้นคว้าเรื่องราวชีวประวัติของนักเขียนผู้นี้  ได้ทราบว่า ท่านมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องธรรมะ และปรัชญาเชิงพุทธมาตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่น โดยการค้นหาคำตอบมาเติมเต็มคำถามที่ดังก้องอยู่ในใจ เกี่ยวกับการแสวงหาคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยตนเอง และต่อมาได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์อย่างหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งในบรรดาผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้จักหรือเคยปฏิบัติตามแนวคำสอนของท่านแล้วได้ผลดีมาทั้งนั้น ก็ย่อมเป็นเครื่องการันตีพื้นฐานทางธรรมที่ “แน่นปึ้ก” อย่างหาตัวจับยากของ “ดังตฤณ ”
นอกจากประสบการณ์ตรงที่ได้มีโอกาสนำเอาข้อคิดจากงานเขียนของ “ดังตฤณ” มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลเป็นการพัฒนาความคิด จิตใจ และกรรม ( การกระทำ) ของตัวเองแล้ว เท่าที่ผมได้ลองเข้าไปสำรวจแนวคิดและเสียงสะท้อนในโลกอินเตอร์เน็ต พบว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรู้ แนวความคิด ของนักเขียนผู้ใช้นามปากกา “ดังตฤณ” จนสามารถยกระดับชีวิตและจิตใจของตัวเอง บางคนสามารถหักเหชีวิตที่ติดลบให้เป็นบวกได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องขอนำเอาเรื่องราวของ “ดังตฤณ” มาเป็นหนึ่งในบทความของบล็อก “ไอดอลแมน”นี้
( อ่านประวัติของ “ดังตฤณ” ต่อในบทความ “เส้นทางชีวิตดังตฤณฯ” ครับ )