เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งเป็นที่ฮือฮาและสร้างความตกตะลึง โดยเฉพาะในวงการพระพุทธศาสนา นั่นคือ ข่าวการลาสิกขาบทของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติและเผยแพร่ศาสนา ผู้สร้างคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี ดังนั้น ข่าวการสละเพศบรรชิตของท่านจึงเปรียบเสมือนฟ้าผ่าลงมาโดยไม่มีใครคาดคิด
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เดิมชื่อ มิตซูโอะ มิฮาบาชิ เป็นชาวดินแดนซากุระ ถือกำเนิดที่จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2494 สำเร็จการศึกษาไฮสคูล (เทียบเท่าระดับ ปวช. หรือ มศ.5 ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี ณ เมืองโมะริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ
หลังจากเรียนจบ ทำงานเก็บเงินได้ก่อนหนึ่ง มิตซูโอะ มิฮาบาชิ ในวัย 20 ปี ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2514 เพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต โดยท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นเวลา 2 ปีเศษ
เมื่อได้กลับไปเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐาน ณ พุทธคยา อาจารย์มิตซูโอะได้ค้นพบความจริงว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหาสัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจทุกคน ทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้ ” ท่านจึงหยุดการแสวงหาสัจธรรมภายนอก มุ่งค้นหาความสุขจากภายใน เริ่มจากการเป็นโยคี ณ สำนักโยคีแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งท่านตั้งใจจะบำเพ็ญเพียรเช่นนั้นตลอดชีวิต แต่เกิดปัญหาเรื่องวีซ่าหมดอายุ แระกอบกับได้รับคำแนะนำให้เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ท่านจึงกลับมาเมืองไทย และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
หลังจากบรรพชาได้สามเดือน สามเณรมิตซูโอะ วัย 24 ปีได้รับคำแนะนำให้ไปกราบและศึกษาธรรมกับหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี จนสามเณรมิตซูเอะรู้สึกซาบซึ้งในพระธรรม จึงขออุปสมบท โดยหลวงพ่อชาเป็นอุปัชฌาย์ให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2518 ได้รับฉายา “คเวสโก” แปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง” นับว่าเป็นสิทธิวิหาริกรุ่นแรก คือ ลูกศิษย์รุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อชามาอย่างต่อเนื่อง ท่านเคยเล่าไว้ในหนังสือ “เราเกิดมาทำไม” ถึงแนวทางการปฏิบัติต่างๆของท่านที่บ่งบอกว่า ท่านเป็นนักปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสรูปหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการถือเนสัชชิก คือ ปฏิบัติในอิริยาบถ 3 อันได้แก่ เดิน ยืน นั่ง โดยไม่นอน ตลอดพรรษา การอดข้าวหนึ่งเดือน ฉันแต่น้ำเปล่า การเข้าห้องกรรมฐาน เก็บอารมณ์ ณ วัดสังฆทาน (หลวงพ่อสนอง) จังหวัดนนทบุรี ปิดวาจา เจริญกรรมฐาน เป็นเวลา ๒ ปี ( พ.ศ.2523 - 2524) หรือการออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ
ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้ขออนุญาตหลวงพ่อชาออกธุดงค์และปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย เป็นเวลา ๑ ปี ก่อนจะกลับมาเมืองไทยเพื่ออุปัฎฐากหลวงพ่อชาที่อาพาธร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชา และได้ปฏิบัติธรรม ณ วัดหนองป่าพง และวัดป่านานาชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา ๓ ปี
การธุดงค์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพระอาจารย์มิตซูโอะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2532
โดยท่านและลูกศิษย์คือ พระญาณรโต ร่วมกันเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะไปยังเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และรำลึกถึงอนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพ ระยะเวลาเดิน ๗๒ วัน ระยะทางประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งตลอดทางได้โปรดญาติโยมทั้งไทยและญี่ปุ่นไปด้วยโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นติดตามถ่ายภาพทำสารคดีออกอากาศตลอดเส้นทาง ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาสายเถรวาท โดยแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบพระธุดงค์ โดยยึดปฏิบัติธุดงควัตรเป็นหลัก
และจากการธุดงค์ครั้งนั้น ทำให้พระอาจารย์มิตซูโอะได้เกิดแนวคิดดีๆจากสิ่งที่พบเห็นในระหว่างการธุดงค์ อย่างหนึ่งนั่นก็คือ การที่เห็นคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ในฐานะทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า ที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้ท่านก่อตั้งมูลนิธิมายา โคตมี ขึ้นใน พ.ศ. 2532
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงอุดมศึกษา ควบคู่ไปกับการจัดอบรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบทของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นสถานที่ที่ท่านได้อุปสมบทและปฏิบัติธรรม
ในปีถัดมา (พ.ศ. 2533 ) นางสุนันท์ บุษสาย คหบดีชาวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าเต่าดำ ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค ป่าลึกในเขตอุทยานไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระธุดงค์กรรมฐานศิษย์หลวงพ่อชา จึงได้ถวายที่ดิน 500 ไร่ ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่อ้อยของราษฎรในเขตบ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจัดตั้งวัด ทั้งนี้เพื่อพระสงฆ์จะได้มีเสนาสนะวัด และชาวบ้านจะได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามแนวทางสายวัดป่า พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งสำนักสงฆ์ชื่อ “วัดป่าสุนันทวนาราม” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา
สำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนาราม ได้รับการฟื้นฟูทั้งพื้นที่ตั้งและพื้นที่ป่าโดยรอบ เพื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ภายใต้การนำของพระอจารย์มิตซูโอะ คเวสโก โดยเริ่มสร้างสถานที่อบรมและปฏิบัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2539 และพระอาจารย์มิตซูโอะได้เริ่มอบรมการปฏิบัติธรรมแบบอานาปานสติแก่ญาติโยมเป็นครั้งแรกในปลายปี 2539 ก่อนจะมีการเปิดอบรมตามคำขอของสถานบันต่างๆที่ส่งบุคคลากรเข้ามารับการอบรมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนาราม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดย สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นองค์ประธานประกอบพิธีตัดลูกนิมิต ผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดสุนันทวนาราม ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ส่งผลให้วัดป่าสุนันทวนราม ได้สถาปนาเป็นวัดโดยสมบูรณ์และดำรงสถานภาพเป็นวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และได้มีการแต่งตั้งพระมิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่พระอาจารย์มิตซูโอะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาทั้งสถานที่ตั้งวัด สภาพผืนป่าโดยรอบ รวมทั้งพัฒนาจิตใจของญาติทั้งในและนอกพื้นที่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอบรม ปฏิบัติธรรม การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนและแนวทางการปฏิบัติตามวิถีพุทธผ่านทางผลงานเขียนหนังสือมากมายหลายเล่ม จึงนับได้ว่า ท่านเป็นเพชรน้ำหนึ่งอันล้ำค่าอีกเม็ดหนึ่งของวงการพระพุทธศาสนา
สำหรับเหตุผลของการลาสิกขาบทนั้น ผู้ใกล้ชิดให้เหตุผลว่า อาจารย์มิตซูโอะมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งท่านเคยปรารภว่าอาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสถานภาพของสมณะ ท่านจึงลาสิกขาบทเพื่อรักษาตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นท่านก็ยังคงยืนยันปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนต่อไป โดยเหตุผลที่ท่านเดินทางกลับญี่ปุ่น ก็เพื่อต้องการกลับไปช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติของท่านด้วย
ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง ผมเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาและปณิธานของอาจารย์มิตซูโอะ และเชื่อว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสมณเพศหรือคฤหัสถ์ อาจารย์มิตซูโอะ ก็จะยังคงเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าอยู่เสมอ ประดุจเพชรน้ำหนึ่งที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด คุณค่าของความเป็นเพชรก็ยังจะคงอยู่ตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น