12 พฤษภาคม 2556

“ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” อัจฉริยะผู้หยั่งรู้จากภายใน

ในบรรดาสุดยอดอัจฉริยะเมืองไทย ผู้มีชื่อเสียงขจรไกลจนได้รับการยอมรับในระดับโลก คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” คือหนึ่งในนั้น

ดร.อาจอง กับโครงการนำยายอวกาศลงดาวอังคาร
จากผลงานที่ได้ร่วมโครงการคิดค้นและออกแบบอุปกรณ์ควบคุมยานอวกาศขององค์การนาซ่า ให้ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างนุ่มนวลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นประจักษ์พยานสำคัญถึงว่า คนไทยตัวเล็กๆคนหนึ่งก็มีความเป็นอัจฉริยะไม่น้อยหน้าฝรั่งมั่งค่าเหมือนกัน

แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือ ความเป็นอัจฉริยะของบุคคลท่านนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากภายใน ด้วยวิถีแห่งศาสนา นั่นคือ การใช้ปัญญาที่เกิดจากดวงจิตที่สงบนิ่ง มีสมาธิ กลายเป็นพลังสู่การค้นพบ หาใช่เพียงแค่การก้มหน้าก้มตาค้นคว้าวิจัยตามสไตล์นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกแต่อย่างเดียวไม่

และด้วยความเป็นปราชญ์ที่ออกมาจากข้างในนี้เอง ทำให้เส้นทางอัจฉริยะของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้รับการขนานนามว่า เป็น “อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว”

อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว
ประวัติโดยสังเขปของท่าน ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 เดิมชื่อ องอาจ หรือ “เอ๊ะ” เป็นบุตรคนกลางของพลตรี มล.มานิตย์ และคุณหญิงเฉลิมขวัญ ชุมสาย ณ อยุธยา

เด็กชายองอาจ ( ชื่อในขณะนั้น) เริ่มศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนอนุบาลละออกอุทิศ โรงเรียนเซนต์ฟรังต์ซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนเซนคาเบรียล จนจบชั้น ป.4  จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แต่เรียนได้แค่ครึ่งปีก็ต้องย้ายตามคุณพ่อไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เรียนต่อจนอายุ 12 ปีก็ย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษ ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโท ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ( Mechanical science ) จากมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ และปริญญาเอก  วิศวกรรมไฟฟ้า สาขาสื่อสารโทรคมนาคม จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ พ.ศ.2509

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ.2533 ได้ลาอุปสมบทอยู่พักหนึ่ง

เมื่อลาสิกขาบทออกมา ท่านเกิดความคิดว่า โลกหมุนไปเร็วเหลือเกิน วิทยาการใหม่ก็ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หากท่านจะใช้แต่ความรู้เก่าที่มีอยู่สอนนักศึกษาก็คงทำประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ท่านจึงขอไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับหางานทำไปด้วย โดยได้เข้าทำงานกับบริษัท Micromega ในลอสแองเจอริส เป็นฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ไมโครเวฟ ตามความถนัดที่ท่าเคยมีผลงานวิจัยด้านนี้มาแล้วเมื่อครั้งเรียนปริญญาเอก
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา
และด้วยความรู้ความสามารถนี้เอง ส่งผลให้ท่านได้กลายเป็นอัจฉริยะเมืองไทยที่ก้าวไกลสู่ระดับโลก เมื่อองค์การนาซ่าได้ประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมทำงานในโครงการส่งยานอวกาศ “ไวกิ้ง” ไปสำรวจดาวอังคาร ดร.อาจองได้เขียนโครงการเสนอตัวเข้าไปในนามบริษัท แต่ถูกปฏิเสธเพราะอุปสรรคด้านเชื้อชาติสัญชาติ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นความลับทางเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาเกรงว่าจะรั่วไหลไปสู่ประเทศคู่แข่งอย่างประเทศรัสเซียในขณะนั้น

แต่ ดร.อาจองก็ไม่ลดละความพยายาม จากการศึกษากฏหมายของสหรัฐฯ ทราบว่ามีช่องโหว่ที่อนุญาตให้คนต่างชาติร่วมงานได้ในกรณีที่ขาดแคลนผู้รู้สัญชาติสหรัฐฯ  ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐฯก็ยังไม่มีผู้ที่จะคิดค้นระบบการนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้ ท่านจึงส่งประวัติและโครงการเข้าไปใหม่อีกครั้ง คราวนี้นาซ่าส่งข้อมูลของท่านให้หน่วยข่าวกรองอย่าง FBI และ CIA ตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ตอบรับให้ท่านเข้าร่วมโครงการ

สิ่งที่น่าสนใจในการร่วมทำงานในโครงการนี้ของ ดร.อาจอง ก็คือ ในขณะที่ผู้ร่วมโครงการช่วยกันค้นหาวิธีนำยานไวกิ้งลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างนุ่มนวล เพื่อไม่ให้เกิดการแระแทกจนยานเสียหายและไม่อาจส่งข้อมูลกลับมาได้เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตนั้น  บริษัทที่รับการว่าจ้างดำเนินการจากนาซ่า คือ บริษัท Martin Marrietta นั้น ใช้วิธีการให้มีการสร้างต้นแบบ (Prototype) ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ก่อนจะมีการทดสอบด้วยเครื่องทดลองเสมือนจริง (เครื่อง Simulation) เพื่อจำลองการร่อนลงของยาน ซึ่งมีการดัดแปลงแก้ไขใหม่อยู่หลายรอบ แต่ผ่านไปเป็นปีก็ยังไม่สำเร็จ จนทุกคนในโครงการพากันเครียดไปตามๆกัน

ทว่า ดร.อาจอง กลับพลิกแนวคิด โดยมองว่า วิธีการแบบอเมริกัน คือ คิดค้นและทดลองภายใต้ความกดดันนั้นคงไม่ได้ผล ท่านจึงเปลี่ยนมาใช้แนวทางตามวิถีพุทธ คือ การปลีกตัวไปทำสมาธิบนยอดเขา Big Bear ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปล่อยวางจิตใจให้สงบ ก็เกิดปัญญาหยั่งรู้ขึ้นมาในเช้าวันที่ 5 ของการทำสมาธิ นั่นคือการค้นพบวิธีการใช้คลื่นไมโครเวฟควบคุมการร่อนลงจอดของยาน ซึ่งเมื่อนำเอามาทดลอง ปรากฏว่าได้ผล สามารถควบคุมยานจำลองให้ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล สร้างความตื่นเต้นและมหัศจรรย์ใจให้กับเพื่อนร่วมงานชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการคิดค้น ดร.อาจองก็ไม่ได้อยู่รอดูความสำเร็จของโครงการ เพราะท่านได้รีบเดินทางกลับมาสอนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามเดิม ฝากไว้แค่ชื่อเสียงของคนไทยให้องค์การนาซ่าได้จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
( โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น: