8 พฤษภาคม 2556

เส้นทางชีวิต “ดังตฤณ” จากเด็กหนุ่มผู้มืดมนสับสน จนเป็นนักเขียนผู้ใช้ธรรมะนำคนสู่ทางสว่าง

เจ้าของนามปากกา “ดังตฤณ” มีชื่อจริงว่า ศรัณย์  ไมตรีเวช ชื่อเล่นที่เรียกกันในบรรดาคนใกล้ชิดสนิทสนมคือ “ตุลย์” 

กำเนิดของนักเขียนท่านนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลละเอียด เจ้าของประวัติเคยบอกแค่ปีเกิด คือ    พ.ศ.2510 เท่านั้น  เป็นลูกคนที่สามของครอบครัว

การศึกษา จบปริญาตรีคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ( Business Computer ) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน

การทำงาน เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่ บริษัท ซอฟท์แวร์เฮาส์ “ไอโซแฟกส์” ก่อนจะเริ่มเข้าสุ่เส้นทางนักเขียน ( จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป)

 

ชีวิตครอบครัว สมรสกับแพทย์หญิงณัฐชญา  บุญมานันท์ แพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดังตฤณ

เส้นทางธรรมะ : ศรันย์ ไมตรีเวช เกิดและเจริญเติบโตมาแบบเด็กทั่วไป ไม่มีวี่แววจะสนใจธรรมะมาก่อน จนกระทั่งเมื่ออยู่ ม.5 ความรู้สึกหนึ่งที่เป็นเสมือน “ฑูตแห่งธรรม” ก็บังเกิดขึ้นในใจเด็กหนุ่ม นั่นคือ ความรู้สึกที่ต้องการแสวงหาคุณค่าของชีวิต เมื่อเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ชีวิตที่เหลือยู่ จะอยู่เพื่ออะไร ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวก่อตัวมาจากความสับสนในตอนนั้น เช่นเดียวกับเด็กวัยเดียวกันหลายๆคน ที่กำลังค้นหาว่า จะเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหน คณะอะไร แต่ศรันย์คิดไปไกลกว่า ว่าเรียนจบมาแล้วจะทำอะไร และจะใช้ชีวิตต่อไปในแนวไหน

ในเมื่อยังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ จนความสับสนเริ่มกลายเป็นความเบื่อ ศรัณย์จึงหาตัวช่วย ด้วยการเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือ ด้วยคิดว่า อยากจะหามุมมองหรือแนวคิดที่แปลกใหม่กว่าเดิมมาเติมช่องที่ว่างอยู่ และนั่นเองที่ทำให้เขาพบกับ “เต๋าที่เล่าแจ้ง” หนังสือแนวปรัชญาเชิงศาสนา แปลโดย พจนา จันทรสันติ ที่ศรัณย์บอกว่า อ่านแล้วทำให้รู้สึกชุ่มชื่นขึ้นมา แม้จะยังไม่ทำให้ค้นพบคำตอบของชีวิตที่ตั้งไว้ แต่ก็เหมือนว่าได้ชาร์จแบตให้หัวใจ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหันมาสนใจการศึกษาด้านจิตวิญญาณอย่างจริงจัง

ในระหว่างนั้น ศรัณย์ได้มีโอกาสฝึกทำสมาธิ ทั้งแบบโยคะ และในแบบธรรมสมาธิหรือที่เรียกว่า TM ซึ่งเป็นแนวการฝึกแบบอินเดีย โดยการท่องคำบริกรรมเพื่อรวบรวมจิตเป็นสมาธิ ( ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า เป็น สมถะภาวนา) ซึ่งก็ได้เห็นผลจากการฝึกดีพอสมควร แต่ศรัณย์ก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้

ในปีต่อมา เมื่อศรัณย์อยู่ ม.6 เขาเกิดความคิดว่า อยากจะลองฝึกวิปัสสนา ตามที่เขาเคยได้ยินมาว่า เป็นวิธีการนำสู่ความสุขขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เขาจึงเสาะหาหนังสือสอนปฏิบัติด้านนี้มาเป็น “ครู” จนกระทั่งได้หนังสือ “วิธีทำสมาธิวิปัสสนา” ของ “ธรรมรักษา” ซึ่งเมื่อเขาได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็พบว่าตรงกับแนวทางสิ่งที่เขาค้นหา จนศรัณย์ยกย่องว่า “ ธรรมรักษา” เป็นครูคนแรกในชาตินี้ของเขาเลยทีเดียว

เมื่อศรัณย์ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน ศรัณย์ก็ยังคงเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือแนวธรรมะอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือที่เขาโปรดปรานมากที่สุดคือ “พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน”

ดังตฤณตอนบวช

และในปีที่เขาอายุครบบวช ศรัณย์ได้หยุดพักการเรียนมาอุปสมบท และไปปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ 1 – 2 เดือน แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลย และนั่นก็เป็นเสมือนเสบียงที่เขาเก็บสะสมไว้ จนสามารถแปลงเป็นทุนแห่งปัญญา นำมาถ่ายทอดในรูปแบบของหนังสือธรรมะที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในขณะนี้

 

เส้นทางนักเขียน  :  เด็กชายศรันย์ มีอุปนิสัยอยู่อย่างหนึ่งที่เอื้อต่อการเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก คือ มีแรงบันดาลในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ตัวเองได้พบ ได้เห็น ได้รู้ หรือแม้กระทั่งได้คิด ให้คนอื่นรู้ด้วย เจ้าตัวเล่าว่า เคยเขียนนิยายอ่านเล่นแจกจ่ายเพื่อนๆอ่านมาตั้งแต่เรียนประถม แม้จะเป็นนิยายแนวน้ำเน่า ประโลมโลก แต่ก็ได้รับความสนใจถึงขึ้นเพื่อนจองคิวยืมอ่าน นั่นคือภาพความสุขอย่างหนึ่งของเขา และกลายเป็นพื้นฐานนิสัยของการเป็น “ผู้ถ่ายทอด”

ต่อมาเมื่อเขาหันมาสนใจธรรมะ งานเขียนของเขาก็เริ่มมีธรรมะเข้ามาแทรกซึมอยู่ด้วย กลายเป็นนวนิยายแนวธรรมะ โดยเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ คือ เรื่อง ทางนฤพาน ตีพิมพ์ในนิตยสารพ้นโลก เมื่อปี 2533 ว่ากันว่าได้รับความนิยมมาก และคนอ่านส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้เขียนเป็นผู้ทรงภูมิธรรมที่อายุมากแล้ว ทั้งๆที่ตอนนั้นศรัณย์เพิ่งอายุ 22 ปีเท่านั้น 

ดังตฤณ ๒

หลังจากที่เรียนจบ และเข้าทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ดีไซน์ซอฟต์แวร์ ศรัณย์ก็ได้ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์  เขียนบทความลงหนังสือ “ไมโครคอมพิวเตอร์” ไปด้วย ก่อนจะลาออกจากงานมาเขียนบทความอย่างเดียว โดยได้รับค่าตอบแทนจากสำนักพิมพ์เดือนละ 5,000 บาท ( ค่าเงินในขณะนั้น ) และอีก 2-3 ปีต่อมา ก็มีผลงานเขียนเป็นรูปเล่ม อาทิเช่น ครบเครื่องเรื่องอินเตอร์เน็ต  กะเทาะเปลือกไอซีคิว เป็นต้น โดยใช้ชื่อจริงเขียนทั้งหมด และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ฟรีมาตลอด จนกระทั่งรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะคิดว่าเป็นการส่งเสริมให้คนอ่านใช้ซอฟแวร์เถื่อน จึงเลิกเขียน

 

ดังตฤณ

สำหรับจุดเริ่มต้นของนามปากกา ดังตฤณ ที่กลายมาเป็นชื่อที่โด่งดังทุกวันนี้นั้น เจ้าตัวบอกว่า เป็นชื่อของตัวละครในนวนิยายที่เคยเขียนเล่นๆให้คนใกล้ชิดอ่านสมัยเด็กๆ แต่ไม่ได้เผยแพร่ เมื่อมาเขียนนวนิยายธรรมะเมื่อ พ.ศ.2534 จึงนำหยิบเอาชื่อนี้มาใช้เป็นนามปากกา และใช้เป็นนามแฝงในโลกอินเตอร์เน็ตด้วย เพียงเพราะว่า มันทำให้รู้สึกว่า เป็นชื่อสมมติที่ไม่ใช่ตัวเอง  เท่านั้นเอง

“ตฤณ แปลว่า หญ้า ดังตฤณ = เหมือนหญ้า หรือเสมอกับหญ้าสักต้นหนึ่ง” เจ้าของชื่ออธิบายความหมาย และเคยออกตัวไว้ว่า “….ตั้งชื่อ ตั้งนามปากกาว่า ดังตฤณ น่าจะอ่อนน้อมถ่อมตนอะไร จริงๆแล้วก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น ไม่ได้ด้วยความตั้งใจขนาดนั้น…… ถ้าเป็นตัวผมเอง จริงๆแล้วผมก็มองว่า ไม่ได้สูง ไม่ได้ต่ำ นะครับ……

 

หนังสือ ทางนฤพาน โดย ดังตฤณ

ย้อนกล่าวถึงนิยายธรรมะเรื่องแรก คือ ทางนฤพาน ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2533 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีนั้น ในอีก 7 ปีต่อมา เพื่อนๆของ “ดังตฤณ” ก็ได้ลงขันกันพิมพ์เป็นรูปเล่มพ็อกเกตบุ๊ค ทั้งขายทั้งแจก ในราคาเล่มละ 99 บาท ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 2 เดือน

 

ผลงานชิ้นอื่นๆหลังจากทางนฤพาน จากปลายปากกา ( หรือคีย์บอร์ด?) ของดังตฤณ ไม่ว่าจะเป็น เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน  กรรมพยากรณ์  เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว  รักแท้มีจริง   มีชีวิตที่คิดไม่ถึง และ ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นงานเขียนแนวธรรมะสมัยใหม่ ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ได้แนวคิด ให้ความรู้สึกดีๆ ที่อ่านแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งทุกวันนี้ยังหาอ่านได้อยู่ เพราะผลงานเกือบทุกชิ้นเผยแพร่ฟรีบนโลกอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของ E – Book และแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเลต หรือถ้าใครที่ยังหลงใหลการอ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม ก็มีการรวมเล่มให้หาอ่านกันได้ตามร้านหนังสือ

 

BhWq20071215151738webboard-reply83681

 

นอกจากนี้ ผลงานของ “ดังตฤณ” ยังได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของมัลติมิเดียอื่นๆ เช่น หนังสือเสียง คลิปวิดิโอบน Youtube  การตอบปัญหาธรรมผ่านคลื่นวิทยุออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกุศโลบายในการเผยแพร่ธรรมให้เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา ทุกโอกาสได้มากขึ้น

ใครจะคิดว่า จากความสับสน มืดมน และความไม่เข้าใจในชีวิตที่เกิดกับเด็กหนุ่ม “ศรัณย์” ในวันนั้น จะกลายเป็นเส้นทางก่อกำเนิด “ดังตฤณ” นักเขียนผู้สามารถนำเอาหลักธรรมของพระพุทธองค์มาถ่ายทอดสู่คนยุคใหม่ที่อาจจะกำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่ศรัณย์เคยเผชิญมาก่อน จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยพบแสงสว่างได้ ต้องขอบคุณเส้นทางมหัศจรรย์เส้นนี้จริงๆ

 

ไม่มีความคิดเห็น: