8 พฤษภาคม 2556

ดังตฤณ นักเขียนผู้สร้างปาฏิหาริย์แห่งการเทศนาในยุคอินเตอร์เน็ต


374300_10151365007297870_1044063499_n
ผมเชื่อว่า คนที่สนใจอ่านหนังสือแนวธรรมะสมัยใหม่ หรือธรรมะประยุกต์ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ดังตฤณ” นักเขียนผู้อยู่ในสถานภาพ “คฤหัสถ์” แต่ทว่าสามารถหยิบเอาหลักธรรมของพระพุทธองค์มานำเสนอในสำนวนภาษาสมัยใหม่ ดึงผู้อ่าน ( และผู้ฟัง) ร่วมสมัยให้เข้าถึงหลักความจริงอันประเสริฐที่ถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีก่อนได้อย่างกระจ่างแจ้ง ราวกับการแสดงปาฏิหาริย์แห่งการเทศนาของพระอริยบุคคลในอดีตก็ไม่ปาน

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของนักเขียนผู้นี้ และมีหลายแนวคิดที่ได้รับจากท่าน เป็นพลังแห่งถ้อยคำที่กระตุกให้ฉุกคิด จนกลายเป็นพลังในการพัฒนาตนเอง เพื่อยกระดับชีวิตและจิตใจให้สูงขึ้นมาได้

 ย้อนหลังไปเมื่อหลายปีก่อน ผมเห็นนามปากกา “ดังตฤณ” ครั้งแรกบนหน้าปกหนังสือนวนิยายเรื่องหนึ่งของสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม สะดุดตากับชื่อที่ไม่รู้ว่าจะอ่านออกเสียงและมีความหมายอย่างไร แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะถึงแม้จะชอบอ่านนวนิยาย แต่ก็จะเลือกอ่านเฉพาะแนวของนักเขียนที่ชอบและคุ้นเคยมากกว่า

 จนหลายปีต่อมา ผมได้เห็นนามปากกานี้อีกครั้ง ทว่าคราวนี้ประดับอยู่บนปกหนังสือแนวธรรมะ ซึ่งดูติดอันดับขายดีในขณะนั้น คือ “ เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน ” “เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว ” “มีชีวิตที่คิดไม่ถึง” และอีกหลายเล่ม จนเริ่มรู้สึกคุ้นเคยและชักจะสนใจผลงานของนักเขียนท่านนี้ขึ้นมา
BhWq20071215151738_thumb[2] webboard-reply83681_thumb[2][4] 1348469748_thumb[1]

ยอมรับว่า ตอนแรกๆ ก็คิดแค่ว่า “ดังตฤณ” คงแค่เปลี่ยนแนวเขียนจากนวนิยายบันเทิง มาเป็นแนวธรรมะ มีสาระเชิงวิชาการ แต่เมื่อได้ติดตามอ่านผลงาน ทั้งที่เป็นหนังสือ และการนำเสนอผ่านสื่อมัลติมิเดียอื่นๆ ซึ่งบ่งบอกความแตกฉานในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนสามารถนำมาแตกประเด็น ถ่ายทอดสู่ผู้อ่านและผู้ฟังด้วยสำนวนภาษาร่วมสมัยในสไตล์ของตัวเอง มิใช่สักแต่หยิบยกพุทธพจน์มาอ้างทั้งท่อน ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เป็นว่า นักเขียนท่านนี้ไม่ได้ “เปลี่ยนแนว” อย่างที่เข้าใจตอนแรก หากแต่ “ธรรมะ” นั้นคือ “แนว”ของท่านมาตั้งแต่ต้น

0 ยิ่งเมื่อได้ลองค้นคว้าเรื่องราวชีวประวัติของนักเขียนผู้นี้  ได้ทราบว่า ท่านมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องธรรมะ และปรัชญาเชิงพุทธมาตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่น โดยการค้นหาคำตอบมาเติมเต็มคำถามที่ดังก้องอยู่ในใจ เกี่ยวกับการแสวงหาคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยตนเอง และต่อมาได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์อย่างหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งในบรรดาผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้จักหรือเคยปฏิบัติตามแนวคำสอนของท่านแล้วได้ผลดีมาทั้งนั้น ก็ย่อมเป็นเครื่องการันตีพื้นฐานทางธรรมที่ “แน่นปึ้ก” อย่างหาตัวจับยากของ “ดังตฤณ ”
นอกจากประสบการณ์ตรงที่ได้มีโอกาสนำเอาข้อคิดจากงานเขียนของ “ดังตฤณ” มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลเป็นการพัฒนาความคิด จิตใจ และกรรม ( การกระทำ) ของตัวเองแล้ว เท่าที่ผมได้ลองเข้าไปสำรวจแนวคิดและเสียงสะท้อนในโลกอินเตอร์เน็ต พบว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรู้ แนวความคิด ของนักเขียนผู้ใช้นามปากกา “ดังตฤณ” จนสามารถยกระดับชีวิตและจิตใจของตัวเอง บางคนสามารถหักเหชีวิตที่ติดลบให้เป็นบวกได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องขอนำเอาเรื่องราวของ “ดังตฤณ” มาเป็นหนึ่งในบทความของบล็อก “ไอดอลแมน”นี้
( อ่านประวัติของ “ดังตฤณ” ต่อในบทความ “เส้นทางชีวิตดังตฤณฯ” ครับ )

ไม่มีความคิดเห็น: