12 พฤษภาคม 2556

“ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” อัจฉริยะผู้หยั่งรู้จากภายใน ตอนที่ ๒


หลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทยภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจร่วมคิดค้นระบบการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารของยานอวกาศกับองค์การนาซ่า ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ยังคงเดินหน้าเรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่อสังคมในบทบาทต่างๆ

เริ่มต้นตั้งแต่การเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ทั้งจากที่มีอยู่เดิม และจากการไปร่วมงานกับองค์การนาซ่า

หลังจากเป็นอาจารย์ได้ประมาณ 7 ปี ดร.อาจอง ก็เกิดความคิดว่า อยากขยายขอบเขตประสบการณ์ของตนเองให้มากขึ้น ด้วยการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ท่านจึงลาออกมาประกอบธุรกิจ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหลายบริษัท


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา (8) เมื่อเริ่มเข้าใจชีวิตนักธุรกิจ ท่านก็เปลี่ยนไปชิมลางทางการเมือง ด้วยการลงสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคพลังธรรม  ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.อยู่ 3 – 4 สมัย และได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่ กรรมาธิการการศึกษา กรรมาธิการวิทยาศาสตร์ กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และตำแหน่งสูงสุดที่ได้รับ คือ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ในขณะนั้น

แม้จะผ่านทั้งชีวิตการเป็นนักธุรกิจและนักการเมือง รวมไปถึงนักเขียนและนักแสดง แต่บทบาทที่โดดเด่นที่สุดของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เห็นจะเป็นด้านการศึกษา ด้วยความที่ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะของโลกคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามีรากฐานมาจากความสำเร็จด้านการศึกษาเรียนรู้ ทว่าตัวท่านเองกลับให้แนวคิดว่า การเรียนรู้จากภายนอก คือ จากสถาบันการศึกษา หรือแหล่งค้นคว้าต่างๆนั้น ยังไม่สำคัญและก่อให้เกิดผลได้เท่ากับ การเรียนรู้จากภายใน คือ การเรียนรู้โดยเริ่มจากรู้จักตัวเอง
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา
หากใครได้เคยติดตามผลงานหรือฟังการบรรยายของ ดร.อาจอง ก็คงจะทราบถึงแนวคิดสำคัญของท่านว่า ดร.อาจองให้ความสำคัญกับการทำสมาธิมาก โดยท่านมักจะเล่าถึงประสบการณ์ของท่านเองว่า ในสมัยเด็กๆ ช่วงที่ท่านไปเรียนอยู่ที่ลอนดอน ท่านเป็นเด็กเกเรคนหนึ่ง ที่ชอบก่อเรื่องวิวาทไปทั่ว แล้วมาวันหนึ่งเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างดลใจให้ท่านฉุกคิดได้ว่า ตนเองกำลังทำตัวเหลวไหล ไร้สาระอยู่ จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ท่านหาสิ่งที่ดีมีคุณค่าแก่ชีวิต จนได้เรียนรู้การทำสมาธิตามวิถีพุทธจากหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน ในขณะที่มีอายุ 15 ปี และได้ฝึกสมาธิตั้งแต่นั้นมา

อานิสงส์จากการปฏิบัติ ทำให้ชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งเปลี่ยนไปในทางบวกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มจากอารมณ์ที่เย็นลง จิตใจที่สงบนิ่ง ผ่อนคลาย มีพลัง ส่งผลถึงการเรียนดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ คือ จากที่เคยสอบได้ที่โหล่ กลับกลายมาเป็นสอบได้ที่ 1 ตลอด จนได้รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทั้งๆที่ตัวท่านเองก็บอกว่า ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาเรียนหนักหนาอะไร เพียงแค่อานุภาพจากการทำสมาธิทำให้ความจำดีขึ้นเท่านั้น

ดร.อาจองยังได้ยกตัวอย่างบุคคลสำคัญในอดีตที่อาศัยพลังแห่งสมาธินำพาให้ประสบความสำเร็จ เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน ที่ใช้เวลาว่างนั่งสงบนิ่งใต้ต้นแอปเปิ้ล จนจิตเกิดสมาธิ และเกิดแนวคิดในการค้นหาข้อเท็จเกี่ยวกับนำ้หนักของวัตถุจนค้นพบแรงโน้มถ่วง หรืออัลเบิร์ต ไอสไตน์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “การหยั่งรู้ด้วยตัวเองไม่ได้มาจากการศึกษา ไม่ได้มาจากความพยายาม แต่มันมาจากใจโดยตรง ถ้าเราเข้าถึงใจของเราได้ สมาธิก็จะเกิด ปัญญาก็เกิดขึ้น”

แม้แต่ตัวท่านเองก็ยังเคยใช้วิธีการทำสมาธิเป็นตัวช่วยในระหว่างการคิดค้นวิธีการควบคุมยานไวกิ้งขององค์การนาซ่าเพื่อลงจอดบนดาวอังคาร ( ตามที่ผมเคยเล่าไว้ในตอนที่แล้ว) จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม ดร.อาจอง จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการ “หยั่งรู้ด้วยตัวเอง” โดยเน้นที่การทำสมาธิเป็นอันดับแรก เห็นได้จากแนวคิดที่นำเสนอผ่านสื่อ หรือการบรรยายต่างๆ เช่น

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา
“…..ผมมุ่งไปที่จิตใจของมนุษย์มากกว่า ต้องการให้คนค้นพบสิ่งที่สงบสุขอยู่ในตัวเองมากกว่า เพราะเราไม่สามารถค้นพบจากวิทยาศาสตร์ หรือโลกภายนอกได้เลย….”

“….พอเราฝึกสมาธิ ความรู้สึกของเรามันจะขยายตัวออกไปกว้างใหญ่ พอเป็นอย่างนี้เท่ากับว่ามันขยายไปที่ไหนเราก็รู้ตรงนั้น ถ้าเราอยากจะรู้ว่าข้างหนึ่งของโลกเรากำลังเกิดอะไรขึ้น เรานั้งสมาธิขยายความรู้สึกของเราออกไป มันเป็นจิตใจที่เราขยายออกไปให้ได้ แล้วจะรู้เรื่องอะไรก็ได้….

“…..เราต้องรู้จักตัวเองให้มากขึ้น แล้วเราจะรู้ว่ามีสิ่งที่ดีมากมายในตัวเราที่ยังไม่เคยใช้ เราใช้สมองไม่ถึง 10% เราต้องรู้จักใช้สมองของเราอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเราไม่รู้จักตัวเอง เราไม่รู้จักคนอื่น เราจึงเข้ากับคนอื่นไม่ค่อยเป็น เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงต้องเริ่มจากตัวเรา การศึกษาต้องช่วยให้เด็กรู้จักตัวเอง การฝึกสมาธิจะช่วยให้รู้จักตัวเอง เพราะเป็นการเข้าไปสู้ใจของตัวเอง ช่วยให้ความจำดีขึ้น การเรียนการศึกษาดีขึ้น….”
ดร.อาจอง กับเด็กๆ
ด้วยแนวคิดต่างๆเหล่านี้ เมื่อท่านได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง ด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส ที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งท่านได้แนวคิดและแรงบันดาลมาจาก ท่านสัตยาไสบาบา นักการศึกษาชาวอินเดีย ที่ท่านเคยได้พบเมื่อคราวไปศึกษาดูงานที่นั่น ประกอบกับท่านเองก็มีแนวคิดจะมุ่งเน้นการ “สร้างคน” อยู่แล้ว นักเรียนในโรงเรียนสัตยาไสของท่านจึงได้รับการปลูกฝังด้วยการมุ่งเน้นกระบวนการ “รู้จักตัวเอง” เป็นอันดับแรก ด้วยความมุ่งหวังของท่านที่จะสร้างสรรค์บุคคลากรรุ่นใหม่ของประเทศให้มีคุณภาพ เป็นคนดีก่อนคนเก่ง ตามแนวคิดที่ว่า “….เมื่อเป็นคนดีแล้วจะเก่งได้เอง แต่การเป็นคนเก่ง ยากที่จะเป็นคนดี…”


ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา (5)นอกจากบทบาทด้านการศึกษาแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยาที่ดูจะโดดเด่นไม่แพ้กัน คือภาพของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆของโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆตามสื่ออยู่หลายครั้ง เช่น การเตือนภัยเกี่ยวกับพายุสุริยะ การให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย เป็นต้น แม้ว่าบางครั้ง การออกมาเตือนของท่านจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือความไม่พอใจของคนบางกลุ่ม ในทำนองว่าก่อให้เกิดความตื่นกลัวเกินเหตุ แต่คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจในเจตนาของท่าน  และท่านก็ยังคงเป็น “ผู้หยั่งรู้” ที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอด

การ “หยั่งรู้”ของอัจฉริยะท่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหยั่งรู้จากภายในหรือภายนอก แต่ท่านก็ได้หยั่งรู้นั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติมาแล้ว จึงสมแล้วที่เส้นทางอัจฉริยะของท่านจะได้รับการขนานนามว่า “อัจฉริยะสีขาว”
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยูธยา (6)

ไม่มีความคิดเห็น: