19 พฤษภาคม 2556

ฉีกซอง (ประวัติ) “เถ้าแก่น้อย” สัมผัสรสชาติ ( ชีวิต) แบบเต็มคำ! (ตอนจบ)

( ต่อจาก ตอนที่แล้ว )
หลังจากตกปากรับคำว่า จะผลิตสาหร่ายทอดป้อนเข้าสู่ร้าน 7 –11 กว่า 3,000 สาขาภายในเวลา 3 เดือน ก็ต้องเรียกว่า “งานช้าง” สำหรับ “เถ้าแก่น้อย” ต๊อบ - อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วนิชย์ เลยทีเดียว เพราะการจะทำให้สำเร็จตามนั้นได้ ต้องมีทั้งโรงงาน วัตถุดิบ เงินทุน เครื่องจักร รวมไปถึงแรงงานอย่างเพียงพอ แต่ ณ เวลานั้นเขายังไม่มีสักอย่าง!!!

เถ้าแก่น้อย
นักหนุ่มวัยยี่สิบปีผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ยื่นเรื่องขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาลงทุน แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ด้วยเหตุผลเพียงว่า ผู้ยื่นแผนธุรกิจขอกู้เงิน คือต๊อบนั้นมีอายุเพียง 20 ปี!! โดยทางธนาคารแทบจะไม่ได้มองถึงแผนธุรกิจที่เขายื่นเลยด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น ต๊อบจึงตัดสินใจเสี่ยงวัดดวงอีกครั้ง ด้วยการตัดใจขายเฟรนไชน์ธุรกิจเกาลัดทั้ง 30 สาขาของเขา ซึ่งต๊อบบอกว่า เป็นเรื่องที่ทำใจลำบากมากสำหรับความรู้สึกของคนที่สร้างธุรกิจขึ้นมากับมือแล้วต้องปล่อยให้หลุดมือไป

“…..เหมือนกับเรามีรถดีๆ สักคันขับอยู่แล้ว แต่กำลังอยากได้รถคันใหม่ แต่ไม่รู้หรอกว่า รถคันใหม่จะดีหรือเปล่า และช่วงที่ขายรถคันเก่าออกไป ต้องยอมนั่งรถเมล์ไปก่อน….” เจ้าของแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” กล่าวถึงความรู้สึกในช่วงนั้น

แต่ถึงจะเสี่ยงอย่างไร แต่เมื่อเดิมพันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ต๊อบจึงยอมเสี่ยง ขายเฟรนไชน์เกาลัดได้เงินหลักล้าน นำมาทุ่มสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอดอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็นตึกแถวที่แปลงเป็นโรงงานมากกว่า ซึ่งผ่านการประเมินคุณภาพมาตรฐานการผลิตของ 7-11 มาอย่างฉิวเฉียด คือ 55% ( เกณฑ์ผ่าน 50 %) แต่ก็ถือว่าเป็นการเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นของต๊อบ และการส่งเสริมสนับสนุนของคนในครอบครัว (รวมไปถึงคนข้างบ้าน! ) กับคนงานอีก 6-7 คน ที่มาร่วมด้วยช่วยกันอดตาหลับขับตานอน เร่งผลิตสาหร่ายทอดให้ทันเวลาและเพียงพอตามจำนวนที่ต้องการ


เถ้าแก่น้อย
คุณต๊อบเล่าว่า ทุกคนทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อจะให้เสร็จทันเวลา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเกือบไม่ทัน เพราะในวันกำหนดนัดส่งสินค้า สินค้าทั้งวหมดพร้อมส่งในเวลาหกโมงเช้าวันนั้นพอดี ต๊อบรีบขับรถบรรทุกสาหร่ายไปส่งที่คลังสินค้าของ 7-11 แต่ก็สายกว่าเวลานัดประมาณครึ่งชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการรับสินค้าเห็นใจในสภาพที่ซูบโทรมจากการโหมงานหนักของต๊อบ จึงได้รับสินค้าไว้ และกระจายสินค้าวางจำหน่ายในรอบนั้น โดยที่ไม่ต้องรอรอบต่อไป

ผลลัพธ์จากความตั้งใจและมุ่งมั่นของต๊อบตอบแทนกลับมาอย่างน่าชื่นใจ เมื่อสาหร่ายทอด “เถ้าแก่น้อย” ได้รับการตอบรับจากตลาด และมียอดขายเจริญเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ ใช้เวลาไม่นานก็กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและติดปากผู้บริโภค ยิ่งเมื่อต๊อบเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก เร่งสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชนิดที่ว่า เอ่ยถึง “เถ้าแก่น้อย” ต้องนึกถึง สาหร่ายทอด อะไรประมาณนั้นด้วยแล้ว ภาพแห่งความสำเร็จของแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้น ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ผู้สร้างผลิตภัณฑ์ภายใตแบรนด์นี้ขึ้นมา กลายเป็น “เถ้าแก่น้อย” เศรษฐีพันล้านตั้งแต่อายุเพียง 23 ปี
เถ้าแก่น้อย
ปัจจุบัน สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “เถ้าแก่น้อย” ยังคงพัฒนาและขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากตลาดภายในประเทศแล้ว ยังขยับขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวั่น อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมด อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ปีที่ชื่อ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วนิชย์
เถ้าแก่น้อย
และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวตัวอย่างความสำเร็จของคนๆหนึ่ง ที่ผมเชื่อว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอีกจำนวนไม่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น: