17 พฤษภาคม 2556

ฉีกซอง(ประวัติ) “เถ้าแก่น้อย” สัมผัสรสชาติ( ชีวิต)แบบเต็มคำ!

คงมีคุณผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่เคยได้ลิ้มลองและติดใจรสชาติของผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า “เถ้าแก่น้อย” และหลายท่านก็คงจะรู้จักชายหนุ่มนักธุรกิจไฟแรงเจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ทั้งจากข้อมูลที่หาไม่ยากตามอินเตอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่วงการบันเทิงก็ยังมีการนำเอาเรื่องราวชีวิตของเขาไปสร้างเป็นภาพยนต์ “วัยรุ่นพันล้าน” ที่ฉายไปเมื่อสองปีก่อน
เถ้าแก่น้อย6    เถ้าแก่น้อย11
แต่สำหรับบางท่านที่ยังไม่รู้จัก หรือแค่เคยได้ยินเรื่องราวมาบ้างอย่างไม่ละเอียดนักก็ไม่เป็นไรนะครับ เพราะบล็อก “ไอดอลแมน” วันนี้เป็นคิวของ “เถ้าแก่น้อย”ที่จะมาทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณผู้อ่าน ด้วยเรื่องราวชีวิตบนเส้นทางธุรกิจที่สามารถพลิกชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้ภายในเวลาเพียงสามปี!!!!!

เถ้าแก่น้อย12
นั่นแหล่ะคือเขาหล่ะ….ต๊อบ อิทธิพัทธ์  กุลพงษ์วนิชย์ เจ้าของแบรนด์และสมญานาม “เถ้าแก่น้อย”

คุณต๊อบ-อิทธิพัทธ์ ( หรือชื่อเดิมคือ ต่อพงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2527 เป็นลูกชายสุดที่รักของคุณวรเศรษฐ์ กุลพงษ์วนิชย์ นักธุรกิจรับเหมา ซึ่งเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้ลูกชายคนนี้กลายเป็น “เถ้าแก่น้อย”ในเวลาต่อมา

เมื่อดูจากเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นวัยเรียนของคุณต๊อบแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จได้มากมายขนาดนี้ เพราะเรื่องเรียนของเขาไม่ได้ดีเด่นอะไรนัก เมื่อจบประถมจากโรงเรียนปานะพันธ์วิทยา เข้าเรียนต่อ ม.ต้นที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เมืองทองธานี จบมาด้วยเกรดต่ำจนไม่อาจเข้าเรียนที่เดิมได้  ทั้งๆที่คุณพ่อคุณแม่พยายามเต็มที่ที่จะให้ลูกได้เรียนต่อ ถึงกับยอมทุ่มเงินหลักแสน ทำให้คุณต๊อบรู้สึกสะท้อนใจ ด้วยความสงสารไม่อยากให้ท่านทั้งสองต้องสูญเสียเงินมากมายขนาดนั้นจึงตัดสินใจบอกว่าจะขอย้ายมาเรียน ม.ปลายสายศิลป์- ทั้วไปที่โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี ซึ่งพี่สาวของเขาเคยเรียนอยู่

เมื่อมาเรียนที่สวนกุหลาบฯ ผลการเรียนของต๊อบก็ไม่ได้ดีขึ้น เจ้าตัวสารภาพเองว่า เพราะเขาติดเกมออนไลน์อย่างหนัก แต่การติดเกมออนไลน์ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเด็กหนุ่มคนนี้ตกต่ำไปเสียทีเดียว เพราะดูเหมือนว่าเขาจะมีพรสวรรค์ในการเล่นเกมจนได้คะแนนสะสมสูง จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการเกมออนไลน์ โดยเฉพาะเกม Everquest ซึ่งเล่นมาตั้งแต่ ม.4  และได้ชื่อว่าเป็นผู้สะสมแต้มที่รวยที่สุดในเซิร์ฟเวอร์ แถมยังสะสมไอเท็มเด็ดๆและของสะสมหายากจากเกมไว้ได้มากมาย ถึงขนาดที่เอาออกขายหารายได้สูงงสุดหลักแสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว


EverQuestเกี่ยวกับการเล่นเกม Everquest จนเป็นจุดเริ่มต้นการทำรายได้หลักแสนบาทนี้ มาจากการที่พี่ชายของต๊อบคือ ณัชชัชพงศ์ กุลพงษ์วณิชย์ ได้อ่านเจอเรื่องราวจากในหนังสือว่า มีคนอเมริกันขายของในเกมนี้จนร่ำรวย ต๊อบจึงลองหามาเล่นดูบ้าง แม้จะมีอุปสรรคเรื่องภาษาที่ใช้ในเกม เขาก็ยังอุตส่าห์เอา Dictionary มานั่งเปิดแปลไปด้วยในระหว่างเล่น เมื่อเล่นไปจนได้แต้มและของสะสมในเกมจำนวนหนึ่ง วันหนึ่งก็มีเพื่อน ( ในเกม) ชาวสิงค์โปร์มาขอดูแต้มและของสะสม ก่อนจะแนะนำว่า ของสะสมบางอย่างของเขาหายากและเป็นที่ต้องการในตลาดเกม จึงรับอาสาเป็นนายหน้าเอาไปขายให้ ต่อมาต๊อบก็เป็นผู้ขายเอง รายได้จากการขายนี้ทำให้เขาดาวน์รถฮอนด้า ซิตี้ได้คันหนึ่งเลยทีเดียว

ด้วยความที่ต๊อบทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้เกมเกือบหมด เรื่องเรียนจึงผ่านมาอย่างทุลักทุเล เรียนจบ ม.6 เขาสอบเอนทรานซ์ไม่ติด เป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องทะเลาะกัน แต่เขาก็รับผิดชอบตัวเองด้วยการสอบเข้าเรียน ม.เอกชน คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารการตลาด
ในปีที่ต๊อบเจ้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น ตรงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ( พ.ศ.2540) ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางครอบครัว ยิ่งเมื่อธุรกิจรับเหมาของคุณพ่อถูกโกง ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้สำเร็จตามสัญญา ถูกปรับวันละ 80,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 30 ล้าน ต๊อบจึงต้องพยายามหารายได้ช่วยเหลือตัวเองและทางบ้าน ทว่ากิจการขายของจากเกมออนไลน์เริ่มซบเซา เนื่องจากความนิยมเกมออนไลน์ลดลง ต๊อบจึงหันมาจับธุรกิจอื่น เริ่มจากการขายเครื่องเล่นดีวีดีจีนแดง เพราะเห็นว่าต้นทุนราคาถูก ( แค่เครื่องละ 800) และสามารถขายได้เรื่อยๆ

แต่แล้วธุรกิจดังกล่าวกลับทำให้เด็กหนุ่มวัย 18 ปีพบกับความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า!!

ก็อย่างที่ทราบกันแหล่ะนะครับว่า สินค้าจีนแดงนั้นคุณภาพต่ำพอกับราคา เมื่อต๊อบซื้อดีวีดีจีนแดงมาขายต่อ ลูกค้าซื้อไปใช้ไม่นานก็พัง จนต๊อบต้องตระเวนไปรับคืนพร้อมคำต่อว่าจากลูกค้า หนักเขาถึงขั้นจะฟ้องร้องกันเลยทีเดียว ผมยังจำฉากในหนัง “วัยรุ่นพันล้าน”ที่จำลองเหตุการณ์ช่วงนี้ได้ ต๊อบรับสินค้าคืน แล้วจะกลับไปโวยกับพ่อค้าขายส่ง และกลับถูกตอกหน้ากลับมาว่า เป็นความ “โง่” ของเขาเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสังคมธุรกิจไม่ว่าระดับใด โอกาสที่จะก้าวพลาดมีสูงถ้ารู้ไม่เท่าทัน

แต่ถึงจะล้มเหลวในการขายเครื่องเล่นดีวีดี แต่ต๊อบก็ไม่ย่อท้อที่จะมองหาลู่ทางในการทำธุรกิจอื่นต่อไป

วันหนึ่งระหว่างนั่งรับประทานอาหารกับคุณพ่อ ต๊อบได้ขอคำแนะนำในการหาลู่ทางธุรกิจ และได้แนวคิดจากท่านว่า ธุรกิจอาหารน่าสนใจ ในเวลาต่อมาเขาได้ไปเดินดูงาน เวิลด์ ฟู้ด เอ็กซิบิชั่น ที่จัดนิทรรศการด้านธุรกิจอาหารที่เมืองทองธานี  และสะดุดใจกับเครื่องคั่วเกาลัดอัตโนมัติจากญี่ปุ่นที่นำมาแสดงในงาน ประกายความคิดในการทำธุรกิจขายเกาลัดบังเกิดขึ้น เขาอยากได้เครื่องคั่วเกาลัด แต่ติดขัดที่มันมีราคาสูงเนื่องจากเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ แม้จะต่อรองราคาอย่างไรทางผู้ขายก็ไม่อาจตกลงได้ แต่เมื่อเห็นลูกตื้อของต๊อบที่เทียวมาทุกวัน ทางผู้ขายจึงยื่นข้อเสนอให้ต๊อบซื้อแบบผ่อนชำระได้เดือนละ 50,000 บาท ต๊อบตกลงทันที แม้ว่าเมื่อเช่าเครื่องมาไว้ที่บ้านแล้วจะถูกพ่อทักท้วงว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะเครื่องคั่วเกาลัดที่วางขายที่กล้วยน้ำไทราคาแค่ 3 – 4 หมื่นบาทเท่านั้น แต่ต๊อบก็ยังคงยืนยันเดินหน้าลุยธุรกิจขายเกาลัดตามที่ตั้งใจไว้


เถ้าแก่น้อย9
ด้วยความที่ยังขาดประสบการณ์ ต๊อบจึงอาศัยวิชาครูพักลักจำ ไปเดินสำรวจวิธีการและเทคนิคในการคั่วเกาลัดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าย่านเยาวราช ได้วิชามาพอตัว จึงเริ่มธุรกิจ โดยขอเช่าสถานที่ขาย ที่ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ รามคำแหง ( และต่อมาก็ขยายไปที่บิ๊กซี บางใหญ่)

ในระหว่างที่ต๊อบกำลังเตรียมตัวจะออกไปเริ่มต้นธุรกิจคั่วเกาลัดนั้น ได้ยินเสียงพ่อกระเซ้าว่า ลูกชายของพ่อกำลังจะเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว เขาจึงจดจำคำพูดประโยคนั้น มาเป็นที่มาของการตั้งชื่อแบรนด์สินค้า เกาลัดตรา “เถ้าแก่น้อย”
( ติดตาม ตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น: