16 เมษายน 2556

วิกรม กรมดิษฐ์ ผู้จุดประกายแนวคิด "ไอดอลแมน"

อย่างที่บอกไว้ในเรื่อง "ไอดอลแมนคือใคร" น่ะแหล่ะครับว่า รูปแบบการเขียนที่ผมใช้ในบล็อก "ไอดอลแมน " นี้ ได้แนวคิดมาจากหนังสือชุด "มองซีอีโอโลก" ของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปปอเรชัน จำกัด ( มหาชน ) และประธานมูลนิธิอมตะ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกเขียนถึงบุคคลคนนี้เป็น "ไอดอลแมน"คนแรกของบล็อก

ด้วยความที่คุ้นเคยกับแวดวงหนังสือมากกว่าแวดวงธุรกิจ ผมจึงรู้จักชื่อ "วิกรม กรมดิษฐ์ " ครั้งแรกผ่านทางหน้าปกหนังสือที่เขาเขียน คือ เรื่อง "ผมจะเป็นคนดี" ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย

 
สารภาพว่าตอนนั้นชื่อคนเขียนไม่ได้สะดุดใจเท่าไหร่ ( แหะๆ) แต่ที่สนใจก็เพราะว่า
หนึ่ง หน้าปกระบุว่า ผู้เรียบเรียงคือ ประภัสสร เสวิกุล นักเขียนที่ผมชื่นชอบ
 
สอง ชื่อหนังสือ เพราะคำว่า "ผมจะเป็นคนดี" มันทำให้คิดว่า อ้าว!แล้วตอนนี้คนเขียนเป็นคนเลวหรือไง ( ตอนนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆครับ ^^ )
 
ก็เลยซื้อมาอ่านดู
 
ดูเหมือนหนังสือเล่มนั้นจะเป็นผลงานชิ้นแรกๆของคุณวิกรม ที่เขียนเล่าถึงชีวประวัติของตนเองตั้งแต่เด็กยันโต ซึ่งผ่านเรื่องราวชีวิตทั้งดีและไม่ดี ราวกับว่าเป็นนิยายเรื่องหนึ่งก็ไม่ปาน ( แน่นอนว่าคงไม่ได้เป็นเพราะสำนวนการเรียบเรียงของนักเขียนนวนิยายคุณภาพของเมืองไทยอย่างเดียวแน่ ) อ่านแล้วสะท้อนภาพชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เส้นทางชีวิตไม่ได้ราบรื่นเลย จนหวิดหวุดจะหลุดโค้งจากเส้นทางแห่งความดี ตกสู่หุบเหวแห่งความชั่วร้าย ทว่าเขากลับหักหลบและประคับประคองพวงมาลัยควบคุมทิศทางชีวิตให้กลับมาสู่วิถีแห่งสามัญชนได้
 
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมให้ความสนใจกับบุคคลคนนี้ ไม่ใช่ในฐานะนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่หรือซีอ๊โอคนเก่งแต่อย่างเดียว หากแต่เพราะเรื่องราวชีวิตของเขาที่ถ่ายทอดออกมาอย่างไม่ปิดบัง ราวกับตั้งใจจะอุทิศเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นหลังตะหาก
 
ยังไม่รวมถึงหนังสือดีๆมีคุณภาพที่คนๆนี้ตั้งใจทำออกมาฝากไว้แก่บรรณพิภพด้วย
 
ในราวเดือนตุลาคม ปี 2550 ที่หนังสือ "มองซีอีโอโลก" เล่มแรกถือกำเนิดขึ้น  ผมเห็นพ็อคเกตบุ๊คเล่มนั้นในร้านหนังสือก็ลองหยิบมาดู พลิกดูเนื้อหาข้างในแล้วเลือดนักอ่านก็สูบฉีด เมื่อพบว่าข้างในบรรจุเรื่องราวชีวิต ข้อมุลประวัติที่ละเอียดพอสมควรของบุคคลสำคัญของโลกไว้มากกว่า 20 คน แบบที่ไม่เคยเห็นว่าจะมีในพ็อคเกตบุ๊คขนาดเหมาะมืออย่างนั้นเล่มไหนมาก่อน
 
ยิ่งเมื่อพลิกไปดูราคา ยิ่งตาลุกวาว แทบไม่อยากเชื่อว่า หนังสือคุณภาพระดับนี้จะขายเพียงแค่เล่มละ 100 บาท เท่าที่เคยซื้อหนังสือมา อยากบอกว่า หนังสืออ่านเล่นบางเล่มยังแพงกว่าเลย
 
คุณเดาถูกแล้วหล่ะ ว่าผมไม่พลาดโอกาสที่จะเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนั้น และเล่มต่อๆมา ตามที่ผู้เขียนประกาศเจตนารมณ์ว่า จะเขียนออกมาปีละ 2 เล่ม จนครบ 10 เล่ม
 
 

 
ผมเคยมีโอกาสพบ ขอลายเซ็นต์ และถ่ายรูปร่วมกับคุณวิกรมครั้งหนึ่งในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อเดือนเมษายน 2553 น่าเสียดายที่ต่อมาไฟล์ภาพชำรุดเสียหายไป คงเหลือแต่ลายเซ็นต์ในหนังสือ "มองซีอีโอโลก ภาค 5 ,6 " ที่ผมซื้อและขอลายเซ็นต์ในงานเท่านั้น
 


 
 
 
 



ไม่มีความคิดเห็น: