29 เมษายน 2556

จากเด็กชายกิมเหลียง กว่าจะเป็นหลวงวิจิตรวาทการที่โลกรู้จัก

จากบทความ  “ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นักปราชญ์ผู้อาภัพของเมืองไทย ” ผมได้นำเสนอเฉพาะบางแง่มุมในชีวิตที่แสดงถึงความเป็น “ปราชญ์” ของท่าน รวมถึงมุมอับในชีวิตที่น่าเห็นใจ มาถึงบทความนี้จะเป็นเรื่องราวชีวประวัติของท่านตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงกาลอวสานแห่งชีวิต

เนื้อหาที่ผมค้นคว้ามาเรียบเรียง ข้อมูลส่วนใหญ่ผมนำมาจากหนังสือ “รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน ” ซึ่งมีเนื้อหาประวัติของท่านค่อนข้างละเอียด จากการเรียบเรียงของคุณเสฐียร พันธรังสี นักหนังสือพิมพ์อาวุโสผู้เคยใกล้ชิดกับหลวงวิจิตรวาทการ และบางส่วนก็เป็นบทบันทึกของเจ้าของประวัติเอง ผมจึงมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลมากพอสมควร

หลวงวิจตร.2jpg
หลวงวิจิตรวาทการ มีชื่อเดิมว่า กิมเหลียง วัฒนปฤดา ซึ่งฟังจากชื่อแล้วอาจจะคิดว่าท่านมีเชื้อสายจีน แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ การที่ท่านได้ชื่อจีน เป็นเพราะในจังหวัดอุทัยธานี บ้านเกิดของท่านในขณะนั้นมีประเพณีพิเศษอย่างหนึ่ง คือการตั้งชื่อลูกหลานเป็นชื่อจีน ซึ่งอาจจะเนื่องด้วยการรับอิทธิพลของจีนมามากในเวลานั้น

เด็กชายกิมเหลียง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2441 เวลา 04.00 น. ( โดยประมาณ )   ณ แพไม้ไผ่ฝาขัดแตะ ริมคลองสะแกกรัง จ.อุทัยธานี บิดาชื่อนายอิน มารดาชื่อนางคล้าย ทั้งคู่มีอาชีพค้าขาย ฐานะปานกลาง
การศึกษาของเด็กชายกิมเหลียง เริ่มต้นตั้งแต่การหัดเขียนหนังสือตามตัวอย่างที่บิดาเขียนใส่กระดานชนวนให้ไว้ก่อนออกไปค้าขาย ตั้งแต่กิมเหลียงอายุได้ 5 ขวบ ก่อนจะได้เข้าโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดขวิด ต.สะแกกรัง เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ในระหว่างนั้น หลวงสกลรักษา นายอำเภอ ผู้เป็นตา ได้ชักชวนไปหัดเขียนร่างสำนวนฟ้อง ( งานเสมียน)อยู่เสมอ ซึ่งกิมเหลียงก็เรียนรู้ได้ดี น่าเสียดายที่พ่อแม่ไม่มีทุนทรัพย์ให้เรียนต่อ เมื่อจบชั้นประถมศึกษา พ่อแม่จึงพามาฝากให้อยู่กับพระมหาซุ้ย  ผู้เป็นอา ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร   เมื่อปี 2453

เณร
เมื่อมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ กิมเหลียงได้เข้าเป็นนักเรียนบาลีวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งก่อตั้งที่วัดเป็นรุ่นแรก เรียนอยู่ประมาณ 3 –4 ปี  มีความรู้พอจะสอบเปรียญได้ จึงบรรพชา และสอบได้เปรียญธรรม 3 – 4- 5 ประโยคตามลำดับ โดยสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยในปี พ.ศ.2459 ขณะอายุได้ 19 ปี ได้รับประกาศนียบัตรหมายเลข ๑ จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากนั้นก็ได้รับความไว้วางใจจาก พระศรีวิสุทธิวงศ์ ( เฮง เขมจารี ) ผู้อำนวยการสอนบาลีวิทยาลัยให้เป็นครูสอนของวิทยาลัยด้วย

ในราวหนึ่งปีถัดมา สามเณรกิมเหลียงซึ่งอายุครบ 20 ปีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่อยู่ได้แค่เดือนเดียวก็ออกมารับราชการที่กองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งเสมียน เมื่อวันที่  16 พฤษภาคม  พ.ศ. 2461 โดยในระหว่างรับราชการ กิมเหลียงได้เรียนกฏหมายไปด้วย จนสอบได้ภาค 1 แต่ยังไม่ทันสอบภาค 2 ก็ต้องย้ายไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการสถานฑูตไทยในกรุงปารีส ในปี พ.ศ.2463  ซึ่งการรับราชการที่ปารีสนี่เอง ทำให้กิมเหลียง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงวิจิตรวาทการ ” ใน พ.ศ. 2467

ภาพนิ่ง2และในระหว่างรับราชการที่ปารีส หลวงวิจิตรวาทการก็ไม่ทอดทิ้งการใฝ่หาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินเดือนเพื่อซื้อหนังสือมากกว่าอย่างอื่น การเข้าเรียนในโรงเรียนฝึกฝนมันสมอง ที่เรียกว่า Pelman Institute  การเข้าศึกษากฏหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส ควบคู่กับการศึกษารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์ โดยแต่ก็ไม่ทันได้รับปริญญาทั้งสองที่ เพราะต้องย้ายไปเป็นเลขานุการสถานฑูตไทยกรุงลอนดอน ใน พ.ศ.2469

การย้ายไปอยู่ลอนดอน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีของกิมเหลียง เพราะตอนที่อยู่ปารีส หลวงวิจิตรวาทการเคยบ่นว่า “….ข้าพเจ้าไม่รักงานการทูตเท่าไหร่นัก เห็นจะเป็นที่ต้องอยู่ภายใต้งานหนักและความยากลำบาก ประกอบกับความเข้มงวดกวดขัยของท่านอัครราชทูต….” ครั้นเมื่อมาอยู่ลอนดอน ท่านบอกว่า “….ดูเหมือนข้าพเจ้าจะชอบชีวิตในลอนดอนมากกว่าในปารีส…..”

แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขของคนเรามักจะสั้นเสมอ หลวงวิจิตรวาทการอยู่ในลอนดอนได้ไม่นาน ก็ถูกเรียกตัวกลับมารับราชการในเมืองไทย กลับมาคราวนี้ท่านได้หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่หลายตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยชั้นหนึ่ง กองที่ปรึกษา เป็นปลัดกองสันนิบาตชาติ เป็นหัวหน้ากองการกงสุล หัวหน้ากองการทูต หัวหน้ากองการเมือง จนกระทั่งได้เป็นอธิบดีกรมการเมือง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หลวงวิจิตรวาทการก็ยังคงปฏิบัติราชการในกระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ภารกิจที่เพิ่มมาคือการปาฐกกถาให้ความรู้แก่พระภิกษุสามเณรในวัดมหาธาตุอย่างน้อยเดือนละครั้ง นอกจากนี้ ท่านยังใช้เวลาส่วนหนึ่งเขียนหนังสือ และตั้งโรงพิมพ์ “วิริยานุภาพ” ออกหนังสือพิมพ์วิชาการชื่อ “ดวงประทีป” ซึ่งดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่งก็โอนกิจการให้กับบริษัท “ไทยใหม่” ส่วนตัวหลวงวิจิตรวาทการเองก็ได้ลาออกจากราชการมาเป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” อย่างเต็มตัว

ไม่มีความคิดเห็น: