28 เมษายน 2556

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นักปราชญ์ผู้อาภัพของเมืองไทย

บุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ผมชื่นชมความรู้ความสามารถและผลงานของท่านมาตั้งแต่เรียน ม.ต้น จนถึงปัจจุบัน จนไม่อาจละเลยการนำเอาเรื่องราวของท่านมาถ่ายทอดในบล็อก “ไอดอลแมน ” นี้ได้ คือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ  ( พ.ศ.2446 – 2505 ) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์อัจฉริยะของเมืองไทย


หลวงวิจิตรวาทการ

ก่อนที่จะนำเสนอประวัติ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ โดยละเอียด เรามาดูกันก่อนว่า สิ่งใดที่บ่งบอกความเป็นนักปราชญ์ของท่านบ้าง และเพราะอะไร ผมจึงกล่าวว่า พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นนักปราชญ์ผู้อาภัพ


ความเป็นปราชญ์ของท่านเริ่มฉายแววตั้งแต่วัย 5 ขวบก่อนที่จะได้เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำ ด้วยการเรียนเขียนตัวหนังสือไทยที่พ่อของท่านเขียนตัวอย่างใส่กระดานชนวนไว้ให้ก่อนจะออกไปค้าขายกับแม่ท่านทุกๆวัน ทางบ้านก็จะมียายคอยกำกับดูแลการเขียนหนังสือ และมีย่าคอยเล่านิยาย( วรรณคดี ) จำพวกรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา ให้ท่านฟังก่อนนอน จนเรื่องเหล่านั้นอยู่ในสมองท่านก่อนจะเริ่มหัดอ่านหนังสือได้เองด้วยซ้ำ


พออายุได้ 8 ขวบ ท่านได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง อุทัยธานี บ้านเกิดของท่าน ในระหว่างนั้น คุณตาของท่าน คือ หลวงสกลรักษา นายอำเภอสะแกกรัง ก็ได้เรียกท่านไปหัดเขียนสำนวนฟ้อง ซึ่งท่านก็เรียนรู้ได้ดี แต่น่าเสียดายที่พ่อแม่ไม่มีทุนทรัพย์ให้เรียนต่อ ท่านจึงต้องหักเหมาเรียนทางธรรม โดยบรพพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์วรมหาวิหารเมื่อท่านอายุได้ 13 ปี

หลวงวิจิตรวาทการขณะเป็นสามเณร
  ท่านศึกษานักธรรมบาลี จนสำเร็จหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก   และเปรียญธรรม 5 ประโยค เมื่อท่านอายุได้ 20 ปี โดยสอบได้ลำดับที่ 1 และได้รับประกาศนียบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 6)


ว่ากันว่า ในระหว่างที่ศึกษานักธรรมบาลีนั้น ท่านยังแอบศึกษาวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสควบคู่ไปด้วย จนมีความรู้แตกฉาน สามารถแปลพงศาวดารเยอรมันจากอังกฤษเป็นไทย โดยใช้นามปากกา “แสงธรรม”

หลังจากสำเร็จเรียนจบเปรียญธรรม 5 ประโยคเมื่ออายุ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทอยู่หนึ่งเดือน ก่อนจะลาสิกขาบทออกมารับราชการ โดยเริ่มต้นที่กองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และหลังจากนั้นท่านก็ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญๆของประเทศอีกหลายตำแหน่ง หลวงวิจิตรวาทการไม่ว่าจะเป็นเลขานุการสถานฑูตไทยในกรุงปารีสและกรุงลอนดอน หัวหน้ากองการกงสุล กองการฑูต และกองการเมือง ในกระทรวงการต่างประเทศตามลำดับ เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมการเมือง เป็นเจ้ากรมปกาสิต    ( ชื่อกรมในขณะนั้น) เป็นอธิบดีกรมศิลปรการคนแรก เป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการหลายกระทรวง  เป็นเอกอัครราชฑูต และตำแหน่งสูงสุดของท่านก็เห็นจะเป็น ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ( เทียบเท่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน )



หลวงวิจิตรวาทการ
ตลอดระยะเวลาที่ท่านรับราชการในตำแหน่งต่างๆดังกล่าว ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างเต็มกำลังความสามารถ  ได้สร้างคุณูประโยชน์ให้ประเทศชาติสืบต่อมาถึงรุ่นหลังไม่น้อย ที่เห็นเด่นชัดคือ ท่านเป็นผู้ปฏิวัติภาพลักษณ์ของอาชีพ “เต้นกินรำกิน” โดยการจุดประกายความสำคัญของการดนตรี ละคร และนาฏศิลป์ ในสมัยที่ท่านเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งแม้ในยุคแรกๆ ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจหรือการให้ความสำคัญจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเท่าใดนัก แต่ท่านก็ยืนหยัดต่อสู้ จนกระทั่งวิชาชีพดังกล่าวได้รับการยอมรับในสังคมมาถึงทุกวันนี้

และในระหว่างการรับราชการ นอกจากการทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่แล้ว หลวงวิจิตรวาทการยังสรา้งสรรค์ผลงานด้านการประพันธ์ ปาฐกถา ออกมามากมาย โดยเฉพาะผลงานประพันธ์ที่ท่านชื่นชอบ และได้เริ่มงานประพันธ์เล็กๆน้อยๆมาตั้งแต่อายุ 16 –17 ก่อนจะมาจับงานนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ท่านอายุ 29 ปีในระหว่างรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ และได้ประพันธ์หนังสือต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตท่านนับได้มากกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีทั้งบทประพันธ์ที่เป็นนวนิยาย บทละคร บทเพลง ผลงานวิชาการ ซึ่งมีการกล่าวขวัญกันว่า ท่านเป็นผู้ที่มีสมองโลดแล่น และสร้างงานประพันธ์ได้รวดเร็วอย่างประหลาด และเป็นที่น่าทึ่งว่า ทั้งๆที่ท่านทำงาน ( รับราชการ ) หนักมาตลอด ( จะมีช่วงลาออกจากราชการไปเป็นเป็นนักประพันธ์อย่างเดียวก็แค่ไม่กี่ปี ) แต่ทำไมถึงยังสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่ามหาศาลออกมาได้ขนาดนั้น ท่านเอาเวลาที่ไหนไปเขียนไปแต่ง ซึ่งเจ้าตัวเคยให้คำตอบไว้อย่างน่าฟังว่า

“….อันที่จริงเวลาของคนเรานั้นย่อมจะมีอยู่เสมอ ถ้าหากมีความตั้งใจจริง ที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เวลาจะล่วงช้าไปถ้าเราใช้ประโยชน์ และจะล่วงเร็วไปถ้าเราไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อะไร….”


เรื่องน่าทึ่งอีกอย่างที่หลายคนคงไม่รู้ คือ หลวงวิจิตรวาทการที่ได้ชื่อว่าเป็นนักพูดชั้นแนวหน้าของไทย ( ดูได้จากชื่อ วิจิตรวาทการ) แต่ตัวท่านเองกลับมีอาการ “ติดอ่าง” ซึ่งเหมือนกับเป็นการกลั่นแกล้งจากธรรมชาติให้ถ่วงดุลอำนาจกับมันสมองที่ปราชญ์เปรื่องของท่าน ว่ากันว่า ตัวท่านเองก็เคยท้อใจอยู่บ้างเวลาต้องออกไปพูดหรือปาฐกถาที่ใด แม้จะเรียบเรียงบทพูดมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ยังดีที่ว่า อาการติดอ่างนั้นจะเกิดขึ้นแค่ใน 2-3 นาทีแรก และต่อมาท่านก็ได้รักษาอาการนี้จนหายได้ในที่สุด

ด้วยความรู้ความสามารถระดับอัจฉริยะที่ท่านมีอยู่ น่าจะทำให้ชีวิตของท่านผู้นี้เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นเหลือ เป็นตำนานแห่งบุคคลต้นแบบระดับแนวหน้าของเมืองไทย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้นเสียทั้งหมด เพราะยังมีบางแง่มุมของชีวิตหลวงวิจิตรวาทการ ที่เป็นความอาภัพซึ่งควรได้รับความเห็นใจจากผู้ที่ได้ทราบ

จุดเริ่มต้นความอาภัพในชีวิตของท่าน อาจจะมาจากการเป็นนักประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างที่ท่านรับราชการไปด้วย หรือช่วงที่ท่านลาออกจากราชการมาจับงานประพันธ์เต็มตัวอยู่ช่วงหนึ่ง แม้จะไม่ปรากฏว่าท่านมีความเป็นอยู่ที่ความยากลำบากหรือเดือดร้อนจากการเป็นนักประพันธ์  ซ้ำในทางตรงข้าม ดูเหมือนว่า ท่านจะประสบความสำเร็จในชีวิตการเป็นนักประพันธ์อย่างมากมายด้วยซ้ำ ถึงขนาดเคยเอ่ยปากเองว่า ผลจากการเป็นนักประพันธ์ในระหว่างที่ลาออกจากราชการ  ทำให้มีรายได้ดีกว่าช่วงที่รับราชการอยู่ด้วยซ้ำ และผลงานประพันธ์หลายชิ้นของท่านก็ยังคงเป็นอมตะมาถึงปัจจุบัน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปราชญ์นักประพันธ์ท่านนี้ก็ยอมรับเองว่า ชีวิตนักประพันธ์โดยมากย่อมจะอาภัพ และอาภัพมากกว่าสาขาอาชีพอื่น นักเขียนคนหนึ่งกว่าจะได้รับเกียรติยศให้เข้าขั้นนักประพันธ์นั้นต้องทำงานอย่างเอาชีวิตเข้าแลกทุกคน นักประพันธ์คนหนึ่งกว่าจะเป็นนักประพันธ์ที่ดีได้ ต้องได้เคยช้ำอกช้ำใจมาแล้วตั้งหลายครั้งหรือเกือบตลอดชีวิต และท่านก็เคยสั่งเสียไว้ว่า ถ้าจะเป็นนักประพันธ์ ก็ต้องตรึกตรองดูให้ดีก่อนว่าจะยอมตายหรือไม่ ถ้ายังไม่สมัครใจใจที่จะอดตายก็ควรเลิกความคิดที่จะเป็นนักประพันธ์

จากแนวคิดของท่าน สะท้อนให้เห็นถึงวิถึชีวิตของนักประพันธ์ในสมัยนั้นว่าอาภัพเพียงใด แม้จะไม่ได้บอกกล่าวถึงชีวิตของตัวเองโดยตรง แต่ก็น่าจะทำให้คิดได้ว่า ท่านคงต้องเคยผ่านวิถีชีวิตแบบนั้นมาแล้วไม่มากก็น้อย
มุมชีวิตที่น่าเห็นใจอีกอย่างหนึ่งของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการก็คือ หลายครั้งที่ความรู้ความสามารถที่ท่านมี กลับไม่ได้ช่วยให้ท่านโดดเด่นขึ้นมาเท่าที่ควร ซ้ำบางช่วงเวลา ยังเกือบจะทำให้ท่านเดือดร้อนเสียอีก โดยเฉพาะบนวิถีทางการเมือง!!!!!

ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร์ ซึ่งหลายคนที่เป็นผู้นำในกลุ่มดังกล่าว ( หนึ่งในนั้นคือ ท่านปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ) เป็นเพื่อนสนิทของหลวงวิจิตรวาทการ แต่ตัวท่านเองกลับไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมกลุ่ม และแม้เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านก็ไม่ได้มีรายชื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นไปต่างๆนานา บ้างก็ว่าเพราะท่านกลัวราชภัยจึงไม่กล้าเข้าร่วมแต่แรก แต่จะคอยหาโอกาสชุบมือเปิบภายหลัง และเมื่อท่านก่อตั้งคณะการเมืองขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เสมือนว่าจะแข่งกับคณะราษฎร์ ก็ยิ่งเหมือนเพิ่มประแสวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น  แต่ท่านก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือให้ความกระจ่างในเรื่องนี้มากนัก นอกจากจะบอกปัดไปว่า “ไม่มีใครจะทราบดีไปกว่าผู้เริ่มก่อการ ( คณะราษฏร์) ซึ่งเป็นเพื่อนของข้าพเจ้ากับตัวข้าพเจ้าเอง ” และขู่จะฟ้องศาลฐานหมิ่นประมาทหากมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นต้นตอการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว

จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ต่อมาเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามเรืองอำนาจ หลวงวิจิตรวาทการมีภาพลักษณ์ออกมาในฐานะขุนพลคู่ใจจอมพล ป. โดยมีบทบาทในการช่วยปลุกกระแสความรักชาติ ผ่านทางบทประพันธ์ ทั้งบทละคร เพลง หรือแม้แต่นวนิยายของท่าน ซึ่งถึงแม้ผลงานดังกล่าวของท่านหลายชิ้นยังคงเป็นอมตะมาถึงวันนี้ เช่น เพลงปลุกใจต่างๆ เป็นต้น แต่กลับส่งผลลบต่อตัวผู้ประพันธ์ในสายตาคนจำนวนไม่น้อยในสังคม ที่มองว่า ท่านเป็นผู้คลั่งไคล้ลัทธิชาตินิยมจนเกินเหตุ
ยิ่งเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้โค่นล้มอำนาจรัฐบาลหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ( ปรีดี พนมยงค์ ) หลวงวิจิตรวาทการในฐานะผู้ใกล้ชิดจอมพล ป.ก็พลอยถูกมองเป็นพวกเผด็จการไปด้วย โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่นิยมและสนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่งปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอีก ด้วยความที่ท่านเคยเป็นคนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกยึดอำนาจ

และจากการที่ท่านถูกมองว่าเป็น “ผู้เลื่อมใสลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง” ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อท่านภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง อันเนื่องมาในระหว่างสงคราม รัฐบาลไทยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร หลวงวิจิตรวาทการต้องทำหน้าที่ปลุกระดมกระแสความรักชาติ รวมไปถึงถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชฑูตประจำกรุงโตเกียว จนกระทั่งสงครามจบ ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ท่านเป็นหนึ่งใน 35 ผู้ต้องหาคดีอาชญากรสงคราม ตามหมายจับของนายพลแม็คอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพอเมริกัน ทำให้ท่านถูกจับกุมคุมขังทั้งในญี่ปุ่นและคุกของไทยเราเองรวมเวลากว่าครึ่งปี ก่อนที่ศาลฎีกาของไทยจะพิพากษาว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเป็นโมฆะ ท่านจึงได้รับการปล่อยตัว

มีบทบันทึกที่น่าสะท้อนใจ ที่ท่านเขียนไว้ในระหว่างถูกคุมขังที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2489 เล่าว่า ท่านตื่นมาได้ยินเสียงหมู่นักโทษหญิงในเรือนจำร้องเพลงปลุกใจ ซึ่งเป็นล้วนแต่เป็นเพลงที่ท่านแต่งทั้งนั้น ผู้คุมบอกท่านว่าทางการมีนโยบายให้นักโทษร้องเพลงเหล่านั้นเพื่ออบรมจิตใจให้รักชาติ ทำให้ท่านถึงกับรำพันว่า “….เป็นเรื่องน่าขบขัน เพราะว่าทางหนึ่งทางการได้ให้นักโทษร้องเพลงชาติที่เราแต่ง ส่วนอีกทางหนึ่ง ตัวเราผู้แต่งเพลงเหล่านั้นเองต้องมาอยู่ในห้องขัง และการที่ต้องมาอยู่ในห้องขัง ก็เพราะเรื่องรักชาตินั้นเอง…..”
ถึงแม้ว่าอาจจะมีความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาอยู่บ้าง แต่หลวงวิจิตรวาทการก็ไม่เคยท้อถอยหรือสูญสิ้นศรัทธาในการอุทิศชีวิตเพื่อการทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งดีๆฝากไว้สู่คนรุ่นหลัง ด้วยแนวคิดสำคัญที่ว่า
“ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง อุปสรรคคือหนทางแห่งความสำเร็จอันดี ชีวิตที่ไม่เคยประสพการต่อสู้ ย่อมเป็นชีวิตที่อ่อนแอ บุคคลที่ไม่เคยมีสัตรู จะเป็นผู้เข้มแข็งไม่ได้”

ไม่มีความคิดเห็น: